top of page

ประวัติการสร้างพระสมเด็จ

 

 

                         จากหลักฐานและความเป็นมา การสร้างพระพิมพ์ เชื่อได้ว่าเจ้าประคุณสมเด็จ สร้างอยู่ 3 แผ่นดิน หรือ 3 ยุคสมัยตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สร้างครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2368 จนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2414 รวมการสร้างพระพิมพ์ประมาณ 14 ครั้ง และแบ่งออกเป็น 3 ยุค ดังนี้

✨ยุคต้นว่ากันง่ายๆ ก็คือเริ่มสร้าง ตามบันทึกหลวงปู่คำบอกว่าสมเด็จโตฯ สร้างพระตั้งแต่เป็นเณร พ.ศ.2342 เป็นต้นมา อ.ตรียัมปวาย บอกว่า น่าจะเริ่มราวๆ 2490 เพียง 6 ปี ก่อนสมเด็จโตมณะภาพเท่านั้น แต่ตามประวัติศาสตร์บอกว่าสมเด็จโตเริ่มสร้างพระครั้งแรกใน พ.ศ. 2368 ซึ่งเป็นต้นรัชกาลที่ 3 ตอนนั้นท่านดำรงสมรณศักดิ์เป็น "พระครูโต" เรียกพระที่สร้างว่า "พระพิมพ์" และสร้างมาเรื่อยๆ มากมายหลายบล็อกพิมพ์ หลายขนาดต่อมาเรียกพระพิมพ์ที่สร้างขึ้นว่า “พระสมเด็จวัดระฆัง” เมื่อครั้งเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ทรงได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ เป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี”เมื่อปี พ.ศ. 2407 และได้เรียก “พระสมเด็จวัดระฆัง” เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยสร้างตามโอกาสต่างๆ ดังนี้
1. ปี พ.ศ. 2368 สร้างที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์ เป็น “พระครูโต”
2. ปี พ.ศ. 2378 สร้างเป็นที่ระลึกในการเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระปริยัติธรรม”
3. ปี พ.ศ. 2379 สร้างเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้บริจาคเงินสร้างพระพุทธไสยาสน์
4. ปี พ.ศ. 2381 สร้างเป็นที่ระลึกให้งานทำบุญครบ 51 ปี ขณะดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ พระปริยัติธรรม
5. ปี พ.ศ. 2386 สร้างเป็นที่ระลึกในงานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระราชปัญญาภรณ์”
6. ปี พ.ศ. 2387 สร้างเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้บริจาคเงินบำรุงวัดระฆัง
7. ปี พ.ศ. 2390 สร้างเป็นที่ระลึกในงานทำบุญครบรอบ 60 ปี เป็นที่ “พระเทพกวีศรีวิสุทธินายก”

ซึ่งการสร้างแต่ละครั้งมีจำนวนไม่มาก เป็นพิมพ์ใหญ่ และอื่นๆ เป็นพระเนื้อขาวแก่ปูนทั้งสิ้น หากเป็นพิมพ์ใหญ่ยังไม่มีเส้นกรอบกระจก สรุปได้ว่ายุคต้น สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งแต่ พ.ศ. 2368 –2390 (รัชกาลที่ 3 ครองราช พ.ศ. 2367 - 2394)

✬✬✬✬✬✬✬✬✬✬✬✬✬✬✬✬✬✬

✨ยุคกลางในยุคนี้นับจากปี 2399 มีการเว้นระยะการสร้างไปเพราะเป็นช่วงปลายรัชการที่ 3 ต้นรัชการที่ 4 สมเด็จโตท่านไม่ค่อยมีเวลาเพราะออกธุดง และออกต่างจังหวัดเเดินทางบ่อย และต่อมาท่านถูกรับสั่งให้ตามตัวจากรัชกาลที่ 4 ซึ่งเพิ่งขึ้นครองราชย์ ให้กลับมาอยู่วัดระฆังหลังจากไปธุดงค์ตามจังหวัดต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 3 จากนั้นท่านก็มีเวลาในการสร้างพระเครื่องมากขึ้น และได้กำเนิดพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก อันประกอบไปด้วยครอบแก้วและองค์พระปฏิมาบนฐาน 3 ชั้น นับเป็นประดิษฐกรรมที่แปลกใหม่ของการสร้างพระด้วยเนื้อผง ในรูปแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า และพุทธศิลปตามคติของรัชกาลที่ 4 คือไม่มีมุ่นมวยผมหรือเกศบัวตูม มีแต่พระรัศมีอย่างเดียว พิมพ์ทรงของสมเด็จยุคนี้ยังเป็นพิมพ์แบบชาวบ้านที่แกะขึ้นถวายรวมทั้งช่างจากชาวบ้าน ช่างหล่อ ช่างสิบหมู่ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกับวัดระฆัง มีวาระการสร้างดังนี้
1. ปี พ.ศ. 2399 สร้างให้โยมพระบิดามารดา เพื่อแทนคุณ ขณะดำรงสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระธรรมกิติโสภณ” เป็นพิมพ์ปรกโพธิ์
2. ปี พ.ศ. 2399 สร้างเป็นที่ระลึกในงานสร้างพระบูชา นามว่า “พระหาพุธพิม”
3. ปี พ.ศ. 2407 สร้างเป็นที่ระลึกในงานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)พรหมรังษี” เป็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่
4. ปี พ.ศ. 2409 สร้างในขณะดำรงสมณศักดิ์ เป็นที่ “พระสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี” เริ่มสร้างที่จำนวน 84,000 องค์ตามเจตนารมณ์ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยแม่พิมพ์ของช่างทองหลวง “หลวงวิจารณ์เจียรนัย”
5. ปี พ.ศ. 2411 สร้างในขณะดำรงสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์โต เป็นพิมพ์ใหญ่อกวี
สรุปได้ว่ายุคกลาง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ พ.ศ.2399 –2411 (รัชการที่ 4 ครองราชย์ พ.ศ. 2394 - 2411)

✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭✭

✨ยุคปลายในยุคนี้เป็นยุคที่พระสมเด็จมีพิมพ์ทรงที่สวยงามที่สุด ว่ากันว่าออกแบบโดยหลวงวิจารณ์เจียรนัยที่เป็นช่างหลวง และเป็นพระสมเด็จที่เล่นหาด้วยราคาแพงในปัจจุบันนี้

ตามตำนานยังบอกว่าหลวงวิจารณ์เจียรนัยนอกจากจะออกแบบพิมพ์ทรงที่สวยงามให้สมเด็จโตแล้ว ยังเป็นผู้แนะนำให้สมเด็จโตผสมน้ำมันตังอิ้วในเนื้อพระเพื่อลดการแตกหักหรือเปราะบางในองค์พระรุ่นก่อนๆ
แม้พระยุคนี้จะเป็นพระสมเด็จราคาแพง แต่ข้อสรุปของพิมพ์ทรงยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะปัจจุบันยังมีพระสมเด็จที่ซื้อขายกันด้วยราคาหลักล้านหลายต่อหลายองค์ที่พิมพ์ทรงแตกต่างจากพิมพ์ทรงที่ได้รับความนิยมในยุคแรก และอาจเป็นพระสมเด็จยุคแรกมีเจ้าของครอบครองหมดแล้ว หาพระแบบนั้นอีกไม่ได้ วงการพระเครื่องจึงต้องยกระดับพระสมเด็จหลายพิมพ์จากยุคอื่นให้อยู่ในยุคนี้ พระสมเด็จยุคปลายมีวาระการสร้างดังนี้
1. ปี พ.ศ. 2412 สร้างพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์หลวงวิจารณ์เจียรนัย
2. ปี พ.ศ. 2414 สร้างพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ (ลงรักปิดทอง) สร้างถวายแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สรุปได้ว่ายุคปลาย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ พ.ศ.2412 –2414 (รัชกาลที่ 5 ครองราช พ.ศ. 2411 - 2453)

ผงวิเศษ ของท่านสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

 

 

เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า พระสมเด็จ วัดระฆัง ที่สร้างโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสีเมื่อปี ๒๔๐๙ นั้น มีส่วนผสมของปูนเปลือกหอย กล้วยน้ำหว้า ดินจากกำแพงเพชร ณ ลานทุ่งเศรษฐี ที่สันนิษฐานว่าต้องมีการนำพระศักดิ์สิทธิ์อย่าง พระซุ้มกอหนึ่งในชุดเบญจภาคี สกุลกำแพงเพชร แห่งลานทุ่งเศรษฐี มาเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย

สุดยอดของส่วนผสมก็คือ ผงวิเศษทั้ง ๕ ที่ สมเด็จฯ โตทรงอาศัยความเป็นอัจฉริยภาพของพระองค์ทำขึ้นมา และส่วนผสมทั้งหลายเหล่านี้ มีนํ้ามันตังอิ้วเป็นตัวการสำคัญในการผสานมวลสารให้เกาะติด เป็นรูปทรงตามพระประสงค์ของท่านเจ้าประคุณได้เป็นอย่างดี เป็นผลให้ พระสมเด็จ (โต) คงสภาพถาวร ไม่เปื่อยยุ่ยแตกสลายแม้กาลเวลาจะผ่านมากว่าร้อยปี หลายท่านรู้ดีว่า "ผงวิเศษ"ที่นำมาใช้ในการผสม เป็นมวลสารหนึ่งในพระสมเด็จ วัดระฆังนั้น ประกอบไปด้วย
✨ผงปถมัง
✨อิทธิเจ
✨มหาราช
✨พุทธคุณ
✨ตรีนิสิงเห

หลายคนคิดว่า "ผงวิเศษ"เหล่านี้เป็นผงแต่ละชนิด นำมาผสมผสานปนเปกันเวลาทำพระ แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นผงชุดเดียวกันที่ผ่านกรรมวิธีการสร้างอันซับซ้อนถึง ๕ ขั้นตอน

เรื่องนี้ พระธรรมถาวรที่บวชเป็นเณรในยุคนั้น ซึ่งท่านเป็นศิษย์ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)และเป็นผู้หนึ่งที่มีช่วงชีวิตทัน เจ้าประคุณ สมเด็จ(โต) อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการสร้างพระพิมพ์ของ พระสมเด็จโตในครั้งกระนั้นด้วย ให้การยืนยันถึงการทำผงวิเศษทั้ง ๕ ของสมเด็จ(โต)ว่าเป็นผงเดียวกัน แต่ผ่านกรรมวิธี ๕ ขั้นตอนดังนี้

"สมเด็จฯ โตท่านจะกระทำผงนี้ในพระอุโบสถ โดยการเตรียมเครื่องสักการะเช่นเดียวกับการไหว้ครู และตั้งเครื่องสักการะต่างๆ ไว้หน้าพระประธาน จุดธูปเทียนบูชาพระแล้วยกถาดที่มีดินสอที่ประกอบจากผงวิเศษมาผสมรวมกับดินโป่ง ๗ โป่ง ดินตีนท่า ๗ ท่า ดินหลักเมือง ๗ หลักเมือง ขี้เถ้าไส้เทียนที่ใช้บูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกจากนี้ก็มี ดอกกาหลง ยอดรักซ้อน ขี้ไคลเสมา ขี้ไคลประตูวัง ขี้ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ไม้ราชพฤกษ์-ชัยพฤกษ์ ต้นพลูร่วมใจ พลูสองทาง กระแจะตะนาว นํ้ามันเจ็ดรส และดินสอพอง โดยนำสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้ มาป่นละเอียดผสมนํ้านำมาปั้นเป็นแท่งดินสอ นำออกตากผึ่งแดดให้แห้ง ให้จับเขียนได้ ลักษณะคล้ายกับแท่งชอล์ค อย่างปัจจุบัน แต่มีขนาดและความแข็งผิดกันเล็กน้อย โดยกระเดียดไปทางดินสอที่ใช้เขียนกระดานชนวนอย่างโบราณ เมื่อนำดินสอที่ทำจากผงวิเศษ ซึ่งบรรจุอยู่ในถาดขึ้นจบเหนือพระเศียร แล้วกล่าวคาถาอัญเชิญครู อัญเชิญเทพยดา ทำประสะนํ้ามนต์พรมตัวท่านเอง จากนั้นก็จะทรงเรียกอักขระเข้าตัว และอัญเชิญครูเข้าตัว จึงจะเริ่มทำสมาธิ เขียนสูตร ชักเลขยันต์ เจริญพระคาถา เอาดินสอที่ทำจากผงวิเศษนี้ เขียนลงบนแผ่นกระดาน แล้วเรียกสูตร นะปฐมํพินธุ แล้วว่าพระคาถาของสูตรการลบ เขียนแล้วลบ เขียนแล้วลบ หลายครั้ง จนกว่าจะครบถ้วนตามตำราการทำ ผงปฐมํ นี้ ต้องใช้ดินสอเขียนมาก และใช้เวลาเขียนนาน ๒-๓ เดือน จึงจะแล้วเสร็จ ได้ผงปถมังอันเป็นผงชนิดแรกที่เกิดขึ้นก่อนผงวิเศษอื่นๆ ซึ่งชื่อคำว่า ปฐมํนี้มีความหมายว่า ผงวิเศษที่สร้างเป็นปฐม ก็น่าจะเป็นหนึ่งในความหมาย

เมื่อได้ ผงปถมัง หรือ ปฐมํ แล้ว ซึ่งผงเหล่านี้เกิดจากการเขียนแล้วลบ เขียนแล้วลบ ดังที่กล่าวมาอานุภาพของผงปถมังนี้ มีหลายประการ คือ ทั้งเมตตามหานิยม แต่หนักไปทางคงกระพันชาตรี มหาอุตม์ แคล้วคลาด กำบังล่องหน ป้องกันภูตผีปีศาจ ตลอดจนคุณไสยทั้งปวงได้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)จะนำผงปถมัง มาผสมกับนํ้าพระพุทธมนต์ ปั้นเป็นดินสอขึ้นอีกครั้ง แล้วเขียนอักขระด้วยสูตรมูลกัจจายน์ แล้วลบด้วยสูตรลบผง สมเด็จฯ โตท่านก็เขียนแล้วลบ ทำดังเช่นการทำผงปถมัง หากแต่เป็นบทบริกรรมพระคาถาคนละประเภท จนได้ผงอิทธิเจ หรือ อิธะเจ ตามคัมภีร์โบราณ ซึ่งใช้เวลาในการทำผงนี้ประมาณ ๓ วัน

สำหรับ "ผงอิทธิเจ" นี้ให้พุทธคุณในด้านเมตตามหานิยมอย่างยิ่ง และป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อได้ "ผงอิทธิเจ" แล้ว ท่านเจ้าประคุณฯสมเด็จโต ก็นำผงมาทำเป็นดินสอขึ้นอีก แล้วเรียกสูตรมหาราชขึ้น แล้วลบด้วยสูตรนามทั้งห้า ซึ่งใช้เวลาในการทำผงมหาราชนี้ประมาณ ๒-๓ เดือน เช่นเดียวกับผงปถมัง

อานุภาพของผงมหาราช นี้มีคุณวิเศษทางเมตตามหานิยมอย่างสูง ป้องกันและถอนคุณไสยได้ อีกทั้งยังดีทางแคล้วคลาดอีกด้วย เมื่อสำเร็จได้ ผงมหาราช ก็นำมาทำดินสอขึ้นอีก เรียกสูตรและลบอักขระเกี่ยวกับพุทธคุณนานาประการ เริ่มต้นตั้งแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงประสูติ จวบจนดับขันธ์ปรินิพพาน ผงวิเศษที่ได้นี้มีชื่อว่า ผงพุทธคุณซึ่งมีอานุภาพในด้านเมตตามหานิยมสูง นอกจากนี้ยังมีอานุภาพในด้านกำบัง สะเดาะ และล่องหนอีกด้วย 

เมื่อได้ ผงพุทธคุณอันเกิดจากขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯก็นำผงพุทธคุณมาทำเป็นดินสอขึ้นเช่นที่ทำผ่านมา แล้วลงสูตรเลขไทยโบราณ สูตรอัตตราทวาทศมงคล ๑๒ จนบังเกิดเป็น ผงตรีนิสิงเหซึ่งเป็นผงสุดท้าย ซึ่งผ่านกรรมวิธีแปลงมาจากผงวิเศษเดิมทั้ง ๔ ประเภท จากนั้นก็ทรงนำผงนี้เขียนอัตตรายันต์ ๑๒ และทรงรับสั่งว่าที่สำคัญที่สุดขาดมิได้คือ ยันต์นารายณ์ถอดรูป ซึ่งถือเป็นยันต์ประจำขององค์ตรีนิสิงเห นอกจากนี้ยังมียันต์พระภควัมบดีและยันต์ตราพระสี ประทับลงเป็นประการสุดท้าย ก่อนที่จะลบรวมเป็น ผงมหามงคลที่วิเศษยิ่งทั้งห้า

อานุภาพของ "ผงตรีนิสิงเห" นี้ มีความครบถ้วน เพราะเป็นผงที่เกิดจากการหลอมรวมผงวิเศษทั้ง ๔ ในชั้นต้น ทำให้ส่งผลบังเกิดในหลายด้าน ทั้งเมตตามหานิยม, ป้องกันถอดถอนคุณไสย และภูตผีปีศาจทั้งปวง แม้เขี้ยวเล็บงาแม้เขาสัตว์ มิให้ระคาย, โรคภัยไข้เจ็บกลับหาย, อุบัติเหตุ อัคคีภัย และอันตรายทั้งปวง ป้องกัน แคล้วคลาดได้ตามแต่จะปรารถนา เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯโตได้ผงวิเศษ ทำการผสมกับส่วนผสมต่างๆ ที่ได้กล่าวมา จึงมารวมกับส่วนผสมอื่น แล้วจึงนำส่วนผสมทั้งหมดหยอดลงในแม่พิมพ์ที่แกะไว้ กดพระออกมา จากนั้นก็ทำการตัดองค์

พระ แล้วนำออกมาผึ่งให้แห้งจนได้ "พระพิมพ์"ตามพระประสงค์ ท่านทรงเอาพระใส่บาตรปลุกเสกทุกวันมิได้ขาด โดยท่านได้ใช้พระคาถามหาวิเศษบทหนึ่ง อันเป็นพระคาถาโบราณในรูปของปัฐยาวัตฉันท์ แล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯโต ท่านได้ตัดทอนเติมต่อให้พอเหมาะ ทั้งดัดแปลงศัพท์บางคำให้สมควรใช้เป็น

พระคาถาปลุกเสกพระสมเด็จของท่านพระคาถานั้นคือ พระคาถาชินบัญชรอันเป็นพระคาถาที่อัญเชิญพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญหลายองค์มาปกป้องคุ้มครองผู้บริกรรมพระคาถานี้ อานุภาพของพระคาถาชินบัญชรนี้ มีคุณานุภาพมากมายหลายประการจนสุดบรรยาย เรียกได้ว่าให้ผลครอบจักรวาล ทั้งยังนำมาบริกรรมทำนํ้ามนต์เพื่อปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บได้สารพัด และที่หลายท่านมีประสบการณ์เล่าขานกันมา พระคาถานี้ดีนักหนาทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงทนอีกด้วย

พระราชประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

 

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (นามเดิม: โต) หรือนามที่นิยมเรียก "สมเด็จโต" "หลวงปู่โต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง" เป็นพระภิกษุมหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสีท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๓๑ เวลา ๑๖.๓๕ นาฬิกา

ท่านเป็นบุตรนอกเศวตรฉัตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่๒ แห่งราชวงศ์จักรี กล่าวคือในสมัยรัชกาลที่๑ นั้น ได้เกิดศึกขึ้นทางภาคเหนือของไทย โดยกองทัพเวียงจันทน์จะยกมาตีเมืองโคราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ) จึงทรงมีรับสั่งให้รัชกาลที่๒ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้า ไปปราบศึกที่ยกมา รัชกาลที่๒ ซึ่งขณะนั้นเพิ่งมีพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษาเท่านั้น ก็ได้ยกทัพไปทางเรือ ครั้นไปถึงจังหวัดกำแพงเพชรก็ได้มีชาวบ้านจัดสินค้าต่างๆมาขายแก่พวกทหารในกองทัพ ในจำนวนแม่ค้าพายเรือมาขายของนั้น ได้มีมารดาของท่านซึ่งเป็นสาวงามชาวกำแพงเพชรด้วยผู้หนึ่ง( ท่านเล่าว่ามารดาของท่านชื่อ แม่งุด ) มารดาของท่านพายเรือขายผลกระท้อนแก่พวกทหาร ด้วยบุพเพสันนิวาส พวกนายทหารเห็นเป็นบุญว่ามารดาของท่านเป็นคนสวยจึงชักพาให้ได้กับเจ้าฟ้าแม่ทัพ และได้อยู่ร่วมกันคืนหนึ่ง ก่อนที่จะจากไปท่านแม่ทัพบิดาของท่านได้ประทานรัดประคดอันหนึ่งแก่มารดาของท่านไว้ เพื่อมอบให้บุตรที่จะเกิดขึ้นต่อไป ทั้งรับสั่งไว้ด้วยว่าถ้ามารดาของท่านคลอดบุตรเป็นชายให้ตั้งชื่อว่า “โต” ถ้าคลอดบุตรเป็นหญิง ให้ตั้งชื่อว่า “เกตุแก้ว”หลังจากนั้นก็เดินทัพต่อไป




ต่อมามารดาของท่านก็ได้ตั้งครรภ์ท่าน ระหว่างตั้งครรภ์มารดาของท่านได้ล่องเรือลงมาสืบหาสามีถึงบางกอก จึงได้ทราบว่าสามีเป็นเจ้าฟ้าผู้สูงศักดิ์ จะเป็นกษัตริย์สืบต่อไปก็เกิดความเจียมตัวจึงไม่แสดงตัว และได้คลอดท่านที่บ้านญาติที่บางกอกน้อยนั้นเอง ตั้งชื่อว่า “โต” ตามที่บิดาท่านสั่งไว้ ตอนเล็กๆนั้นท่านเป็นเด็กที่เรียกว่า“ตัวกระเปี๊ยกเลี๊ยก” เพราะกินอยู่ไม่สมบูรณ์ ต่อมาตาและมารดาของท่านได้ไปค้าขาย ( ท่านว่าไปขายของจับฉลาก ) อยู่ที่จังหวัดพิจิตร แล้วต่อมาก็ได้อพยพไปอยู่ที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง

เมื่อท่านอายุได้ ๗ ขวบ ท่านอยากบวชจึงไปบอกแม่กับตา แม่กับตาก็ให้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดสำนักสงฆ์ใหญ่ ( ซึ่งต่อมาจึงได้สร้างเป็นวัดเกตุไชโย ) หลังจากทรงบรรพชาแล้ว ก็เริ่มปฏิบัติธรรมทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ ศึกษาค้นคว้าแตกฉานเร็วมากด้วยเหตุแห่งการสั่งสมบารมีมามากเป็นอเนกอนันตชาติ และทรงทราบว่าพระองค์มาจุติหรืออุบัติขึ้นเพื่อเจริญพระศาสนา จึงเร่งศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉานแยกแยะความถูกต้องและผิดพลาดจากการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก เร่งฝึกวิปัสสนาพระกรรมฐานความรู้แจ้งเห็นจริงก็ปรากฏขึ้นในดวงจิตที่มุ่งมั่นสะอาดและบริสุทธิ์ ทรงมีพระปัญญาคมกล้าเป็นยอดเยี่ยม จึงสามารถบรรลุมรรคผลอย่างรวดเร็ว โดยการเริ่มเทศน์จากพระคัมภีร์ใบลาน จนกระทั่งเทศน์ด้วยปากเปล่าและในรูปแบบของปุจฉา-วิสัชนา เป็นที่ยอมรับของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ที่ได้ฟังพระสุรเสียงเป็นที่ไพเราะจับใจ ความชัดเจนของอักขระการเอื้อนทำนองวรรคตอนได้ถูกต้อง ภาษาสละสลวย เนื้อหาสาระที่เทศน์ ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ หรือพระเจ้า ๑๐ ชาติ ก็สามารถเทศน์ให้ญาติโยมได้รับฟังอย่างจับจิตจับใจและฟังอย่างมีความสุข และจดจำเนื้อหาที่เทศน์ได้ และประกอบด้วยพระอัจฉริยภาพที่สง่างาม น่ารักของ “ สามเณรจิ๋ว ” ท่านบวชแล้วก็เกิดไม่ยอมสึก แม่ไม่ทราบจะทำอย่างไรก็ปล่อยให้บวชไปเรื่อยๆ พอผ่านไปสัก ๓ พรรษา ตอนนั้นอายุได้สัก ๑๐ ขวบ ท่านก็ยังไม่ยอมสึกตามที่มารดาของท่านพยายามให้สึก
สมัยนั้นหน้าวัดที่ท่านบวชมีเรือสำเภาล่องมาจากทางเหนือคือทางปากน้ำโพผ่านมาจอดเสมอ สามเณรโตคิดว่าขืนอยู่อ่างทองนี้ต้องสึกแน่เพราะมารดาและตาของท่านฝากความหวังไว้กับท่าน ต้องการให้สึกจึงอ้อนวอนรบเร้าท่านเสมอ ท่านไม่อยากสึก ท่านจึงได้สอบถามว่าเรือสำเภาลำไหนบ้างที่พรุ่งนี้เช้าล่องไปบางกอก ก็ได้มีไต้ก๋ง(กัปตันเรือสำเภา) ชื่อแดงประจำเรือสำเภาลำหนึ่งบอกว่าเณรจะไปไหน พรุ่งนี้เรือจะล่องไปบางกอกตอนตีห้าท่านก็บอกไต้ก๋งแดงว่า ท่านจะไปเที่ยวบางกอก แล้วก็กลับไปเก็บข้าวของเตรียมเดินทาง คืนนั้นท่านนอนไม่หลับ เพราะเกิดการต่อสู้ทางความคิดขึ้นในจิตใจท่านเป็นอย่างมาก ตากับแม่ฝากความหวังไว้ที่ท่าน แต่ท่านนั้นดื่มด่ำในรสพระธรรมและจะทิ้งไปโดยไม่บอกให้ทราบ ไม่ทราบอะไรเป็นสิ่งบันดาลให้สามเณรน้อยตัดสินใจ รุ่งเช้าตีห้าท่านเก็บข้าวของลงเรือโดยไม่บอกทางบ้าน และเรือนั้นก็มาเทียบที่ท่าวัดอินทร์สามเสน ท่านได้ไปอยู่กับเจ้าอาวาสวัดอินทร์ บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ท่านเจ้าอาวาสวัดอินทร์เห็นท่านมีหน้าตาท่าทางฉลาด จึงเอาท่านไปฝากที่วัดระฆัง
รุ่งขึ้นก่อนที่สามเณรจะถูกจับมาฝากวัดระฆังนั้น คืนนั้นเจ้าอาวาสวัดระฆังได้ฝันว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งโผล่ขึ้นไปบนกุฏิท่านแล้วไชตู้พระไตรปิฎกรื้อลงมาหมด แล้วเคี้ยวพระไตรปิฎกเข้าไปหมด เจ้าอาวาสตกใจตื่น รุ่งเช้าจึงสั่งพระเลขานุการไว้ว่า ถ้าวันนี้มีใครเอาอะไรมาที่นี่ จงรับไว้ห้ามปฏิเสธเด็ดขาด เจ้าอาวาสคอยเหตุการณ์จนสายก็พอดีมีอำแดงพรนิมนต์ไปฉันที่คลองบางกอกน้อย ก็สั่งกำชับเลขานุการไว้อีก  ครั้นเจ้าอาวาสออกไปแล้วก็พอดีทางวัดอินทร์นำสามเณรน้อยคือท่านมาฝากที่วัดระฆัง ทีแรกก็เกือบถูกไล่ออกจากกุฏิ เพราะเจ้าอาวาสสั่งว่ามีอะไรให้รับไว้นั้น ไม่ได้บอกให้รับคน คุยกันอยู่นั้นก็พอดีเจ้าอาวาสกลับมาได้เห็นสามเณรก็บอกว่าตรงกับความฝัน จึงรับอุปการะและให้การศึกษา ศึกษาได้อยู่พักหนึ่ง ได้ถูกส่งให้มาอยู่วัดมหาธาตุ ต่อมาทางวัดอินทร์ได้ขอตัวท่านไปอยู่ที่วัดอินทร์ โดยอ้างว่าเพราะสามเณรองค์นี้เทศน์เก่ง ขอให้ไปเทศน์ให้ญาติโยมที่วัดอินทร์ฟัง ระหว่างอยู่ที่วัดอินทร์ท่านได้เล่าเรียนวิชาจนแตกฉาน มีพระสังฆราชไก่เถื่อนเป็นอาจารย์ทรงมุ่งมั่นในการศึกษาพระธรรม และฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

ในขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างผงวิเศษต่างๆ เช่น สร้างดินสอพองขึ้นมาเพื่อเขียนกระดานชนวนลงเลขยันต์ ลบเก็บผงไว้เป็นผงวิเศษ ได้ชื่อว่าผงอิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห มหาราช พุทธคุณ ผงเหล่านี้ เรียกว่าเป็นผงวิเศษ หรือผงศักดิ์สิทธิ์ นอกจากจะสร้างผงขึ้นมาด้วยอำนาจจิต จากความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา ด้วยพระองค์เองและผงวิเศษที่ได้ถวายมาจากพระอาจารย์ก็ได้เก็บสะสมไว้ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเอาไว้สร้างพระ ต่อมาเสมียนตราด้วงซึ่งเป็นคนสนิทของเจ้าฟ้าในวังมาพบท่านเข้า ถูกชาตาจึงจะพาไปเทศน์ที่วัดพระแก้ว ซึ่งเป็นวัดหลวงเทศน์ให้เจ้าฟ้าฟัง พอสามเณรเข้าเฝ้านั้นก็นึกถึงแม่ ให้รัดประคดเอาไว้ว่า อันนี้ลูกจะต้องเก็บให้ดีเป็นของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ในวันที่ที่จะเข้าเฝ้าเจ้าฟ้านั้น ท่านจึงได้เอารัดประคดนี้มาคาดแล้วเข้าไปเฝ้า เจ้าฟ้าผู้เป็นบิดาทอดพระเนตรเห็นรัดประคดก็ทรงจำได้และรู้ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ ก็กราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบความเป็นมา และพาท่านเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดฝีปากการเทศน์ จึงทรงรับอุปถัมภ์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยพระราชทานเรือกันยาเป็นรางวัลแก่ท่านด้วยขณะนั้นท่านอายุได้ ๑๖ – ๑๗ ปี และได้ย้ายไปอยู่วัดปรินิพพาน( วัดมหาธาตุ ) อาศัยอยู่กุฏิแดงน้อย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว ระหว่างเรียนหนังสือก็มีอาหารจากในวังส่งมาให้เป็นประจำ โอกาสนี้ท่านได้สนิทสนมคลุกคลีกับเจ้าฟ้ารัชกาลที่ ๔ ด้วย ต่อมาท่านเป็นมหาสามประโยค ได้กลับไปเยี่ยมแม่ด้วย และหลังจากนั้นจึงได้ไปบวชเป็นพระที่จังหวัดพิจิตร






ตอนที่ท่านเรียนหนังสือ ท่านอ่านตำราแตกฉาน จนกระทั่งพระอาจารย์บอกว่า นิมนต์มหาโตไปเรียนกับพระประธานในโบสถ์ ท่านก็ไปอ่านไปคุยกับพระประธานในโบสถ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านกับรัชกาลที่ ๓ มีความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ท่านจึงหลีกหนีไปบำเพ็ญในป่า เช่นที่จังหวัดกำแพงเพชร ดงพญาเย็น จังหวัดขอนแก่น วัดชนะชัยศรี วัดเกาะแก้วในอำเภออรัญประเทศ และเข้าไปในเขตประเทศเขมรเป็นต้น ครั้นรัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ ก็ได้ทรงประกาศหาตัวท่าน เพื่อจะให้ท่านมาช่วยด้านศาสนา ถ้าเห็นใครมีรูปร่างคล้ายท่าน เจ้าหน้าที่ก็จะจับเพื่อส่งวังหลวง ท่านท่องอยู่ในป่า พอได้ทราบข่าวว่า รัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์แล้ว ท่านก็ได้ออกมาให้ตำรวจหลวงนำตัวท่านจากบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นมาสู่บางกอก ขณะนั้นท่านอายุ ๔๐ ปี กลับมาอยู่วัดอินทร์ สมัยท่านอยู่วัดอินทร์ คราวหนึ่งท่านได้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งหันพระพักตร์เข้าข้างฝาในศาลา ทั้งนี้เพื่อเป็นปริศนาธรรมว่า พระสงฆ์ควรหันหน้าเข้าข้างฝาเพื่อค้นสัจธรรม แล้วค่อยหันหน้ามาสอนชาวบ้าน คือให้ถึงธรรมแล้วค่อยมาสอนธรรม เป็นการสร้างขึ้นเพื่อกระทบเหล่าพระสงฆ์ในขณะนั้น เพราะพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในขณะนั้นไม่บำเพ็ญในทางธรรม แล้วก็ชอบพูดธรรมอวดธรรมกัน

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้คำแนะนำรัชกาลที่ ๔ ในเรื่องของการแก้ปัญหาบ้านเมืองในยุคที่มีอิทธิพลของต่างประเทศกำลังขยายตัวเพื่อล่าเมืองขึ้นในแถบเอเชีย ท่านเป็นผู้ร่างกฎหมาย กฎมณเฑียรบาล ท่านวางระบบการปกครองแบบมีสภาเลขา ซึ่งในการวางแผนต่างๆของท่านนั้น ท่านเล่าว่าท่านไม่เคยวางแผนเพียงแต้มเดียว แต่แผนของท่านมีทั้งแผนบุก แผนถอย แผนหนี แผนวิ่ง แผนตีลังกา ในการกู้แผ่นดินตอนที่พวกอังกฤษจะมายึดกรุงสยามในรัชกาลที่ ๔ นั้น ท่านก็วางแผนให้ที่ดินบางส่วนแก่เขาไปเพื่อรักษาเอกราชไว้
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่ทรงคุ้นเคยมาทั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระมหาโตเป็นผู้ไม่ปรารถนาลาภ ยศ สมณศักดิ์ใดๆ เมื่อเรียนรู้พระปริยัติมาแล้วก็ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญและไม่รับเป็นฐานานุกรม เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ พระมหาโตได้ทูลขอตัวมิยอมรับตำแหน่ง หรือเลี่ยง โดยออกธุดงค์ไปตามวัดในชนบทห่างไกลทุกคราวไป จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอด

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหาโตจึงยอมรับพระมหากรุณาในปีพุทธศักราช 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งพระมหาโตเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ในปีขาล พุทธศักราช 2397 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกวี ศรีนายกตรีปิฎกปรีชามหาคณฤศร บวรสังฆราชคามวาสี

ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศ มรณภาพ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รูปที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 ขึ้น 9 ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๐๗ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ได้สร้างวัดและสิ่งเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เช่น หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม พระโตนั่งกลางแจ้งวัดไชโย จังหวัดอ่างทอง พระเจดีย์นอน วัดลครทำ ฯลฯ นอกจากศาสนวัตถุต่างๆ แล้ว สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังได้รจนาบทสวดพระคาถาหลายบท แต่ที่เป็นที่รู้จักและถือว่าเป็นพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง และนิยมสวดภาวนาในหมู่พุทธศานิกชน คือพระคาถาชินบัญชร

ด้วยความที่พระองค์ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่พระพุทธศาสนิกชนกล่าวขวัญถึง ในชื่อ “สมเด็จฯโตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่มีความรอบรู้แตกฉานใน พระธรรมวินัย และธรรมปฏิบัติ ความเป็นเลิศในการเทศนา ได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและ ปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม เปี่ยมด้วยเมตตากรุณาแก่ผู้ตกยากมีอัธยาศัยมักน้อยสันโดษท่านถือปฏิบัติในข้อธุดงควัตรทุกประการ คือ ฉันในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค์ เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรม จนวาระ

**สุดท้ายท่านมรณภาพเมื่อวันอาทิตย์ เวลา ๐๖.๐๐ น. ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๕ **สิริพระชนมายุนับรวมได้ ๘๔ ปี กับ ๒ เดือนเศษ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี พระราชสมภพเพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง เพราะพระองค์ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๕ ชันษา และทรงอุปสมบทเป็นพระเมื่อพระชนมายุ ๒๐ ชันษา ปฏิบัติศาสนกิจอย่างต่อเนื่องโดยตลอดพระชนม์ชีพ ทรงมีผลงานทั้งเรื่องการให้พระธรรมคำสอนโดยการเทศนาโปรด ทั้งในระเทศและต่างประเทศ ทรงสร้างวัตถุมงคลไว้เป็นจำนวนมากในพระอิริยาบทต่างๆ เช่น นั่ง ยืน เดิน และนอน และทรงสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ไว้เป็นจำนวนมาก จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ (พระชนมายุ ๘๕ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๔๑๕)

ข้อมูลใน วิกีพีเดีย ได้ลงรายละเอียดเอาไว้ พระพุฒาจารย์ (โต) ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี อยู่ในสมณเพศ ๖๔ พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ ๒๐ ปี ซึ่งตรงกับปฏิทิน ๑๐๐ ปี จึงเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง





สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน และนอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล "พระสมเด็จ" ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทยและมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน





สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระเกจิเถราจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือนอกจากด้านคาถาอาคมแล้ว ท่านยังได้ดำรงตนเป็นผู้สมถะ มักน้อยสันโดษ ไม่ปรารถนาลาภยศ การแสดงออกของท่านตามบันทึกหลักฐานในสมัยหลัง มักบันทึกถึงความเป็นพระเถระผู้มีเมตตา ดำรงศีลาจารวัตรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม เอกสารที่บันทึกประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ไว้เป็นหมวดหมู่ชั้นเก่าสุด คือเอกสารฉบับของมหาอำมาตย์ตรีพระยาทิพยโกษา (สอน โลหนันท์) ซึ่งเป็นฉบับที่รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ที่รวบรวมขึ้นในปี พ.ศ. 2473 ไม่ได้บันทึกคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ไว้เป็นหมวดหมู่ เพียงแต่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงชีวิตของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ต่างกรรมต่างวาระกัน ตามที่ผู้รวบรวมได้บันทึกมาจากปากคำผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เท่านั้น




✨อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้ปรากฏมีคำสอนต่าง ๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ที่เป็นที่นิยมนับถือกันทั่วไป โดยไม่มีการอ้างอิงที่มาที่แน่ชัด เช่น
✷"บุญเราไม่เคยสร้าง...ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า ..."✸
✸"ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว...เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว...แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า...หมั่นสร้างบารมีไว้...แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง...จงจำไว้นะ... เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้... ครั้นเมื่อถึงเวลา... ทั่วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่...จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า"✸




รูปเหมือนของสมเด็จโต 
เนื่องจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระมหาเกจิเถราจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือยิ่งนับแต่เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จนถึงปัจจุบันผู้ศรัทธาในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้ทำการสร้างรูปเหมือน รูปเคารพจำลองของท่านไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ มากมาย โดยเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "รูปหล่อสมเด็จ" ตามหลักฐานฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) ระบุว่ารูปจำลองรูปแรกของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) คือรูปหล่อที่ประดิษฐานที่วัดเกศไชโยวรวิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปั้นหุ่นลงรักปิดทองโดยหลวงวิจิตรนฤมล (พึ่ง ปฏิมาประกร) หน้าตัก 40.2 เซนติเมตร หล่อขึ้นที่วัดระฆังโฆสิตาราม แต่ได้หล่อเมื่อปีใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. 2444

วิธีบูชา พระสมเด็จวัดระฆัง เพื่อให้เกิดพุทธคุณสูงสุด ควรปฏิบัติดังนี้
- อานุภาพพระสมเด็จวัดระฆัง
ผู้ที่มีจิตใจที่ดี บริสุทธิ์ผ่องใส จะได้รับอานุภาพที่ดี จากพระสมเด็จ ณ วัดแห่งนี้

๑. บูชาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในกิจการงาน และความผาสุขของชีวิต ผู้มีติดตัวไว้ จะทำให้เกิดโภคทรัพย์ ในสุจริตวิถี

๒. คุ้มครองป้องกันภัยอันตราย ให้แคล้วคลาดจากภัย ทั้งหลายทั้งปวง เฉพาะในผู้ที่เป็นสุจริตชน ผู้ทำมาหากินด้วยแรงกาย แรงสติปัญญา ในทำนองครองธรรม ในทางตรงกันข้าม พวกมิจฉาชีพดำรง ชีวิตด้วยความเดือดร้อนของบ้านเมืองและประชาชน ตลอดจนถึงการขัดต่อศีลธรรม อันดีงาม แม้มีพระสมเด็จไว้ครอบครอง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องผ่านมือ ก็จะไม่พบความสุข หาความเจริญที่ยั่งยืนให้แก่ชีวิตได้ยาก

- วิธีอาราธนา พระสมเด็จวัดระฆัง
ตั้งนะโม ๓จบ ระลึกถึง เจ้าประคุณพระสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม
หากสวดคาถาชินบัญชร บทเต็มได้ ควรสวด ๑จบ หรือหากมีเวลาน้อย ให้สวดบทย่อ ๑๐จบ มีดังนี้
" ชินะปัญชะระปะริตัง มังรักขะตุสัพพะทา "

ก่อนที่จะนำ พระสมเด็จติดตัวไป ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ท่องคาถาแสดงความเคารพต่อองค์พระสมเด็จ
เมื่อยกสร้อยขึ้นจะคล้องคอ องค์พระอยู่ในอุ้มมือ พนมมือแล้วท่องคาถา อาราธนาดังต่อไปนี้
" โอมมะศรี มะศรี พรหมรังสี นามะเตโช มหาสมโณ มหาปัญโญ มหาลาโภ มหายะโส สัพพะโสตถี ภะวันตุเม "

- เมื่อจบแล้ว ให้ท่องคาถา ขอโชคลาภ ว่า
"ปุตตะกาโม ละเภปุตตัง ธนะกาโม ละเภธะนัง อัตถิ กาเย กายะยายะ เทวานัง ปิยะยัง สุตวา"

- เมื่อคล้องคอแล้ว ท่องคาถา คุ้มครองชีวิต ให้แคล้วคลาดปลอดภัยว่า
" อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ มรณังสุขัง อรหังสุคโต นะโมพุทธายะ "

     เนื้อพระสมเด็จวัดระฆัง

 

 

 

ผงเนื้อพระสมเด็จมี 12 เนื้อ

เนื้อพื้นพระสมเด็จพระพุฒาจารย์โตตั้งแต่ยุคต้น ยุคกลางมาถึงยุคปลายมี 12 เนื้อพื้น ในพระ 12 เนื้อพวกเนื้อละเอียดเนื้อแน่นเราเรียกว่าพระเนื้อนุ่ม อีกพวกเป็นพระเนื้อหยาบมีมวลสารมาก และเม็ดโตๆ เราเรียกว่าพระเนื้อกระยาสาต เนื้อตุ้บตั้บ อีกพวกเนื้อแก่ผงน้ำมันผงเทียนชัยแก่น้ำอ้อยเคี่ยวดูเหนียวฉ่ำเรียกกันว่าเนื้อขนมเข่งก็มี ในเรื่องเนื้อพื้นพระ 12 เนื้อนั้นแยกได้ดังนี้

1. เนื้อดิน ใช้ดินเหนียวมาทำเป็นเนื้อพระ มีทั้งเนื้อดิน (ไม่ได้เผาไฟ) และเนื้อดินสุก (เผาไฟแล้ว)

2. เนื้อตะกั่ว ท่านเอาตะถั่วฝากระป๋องใบชาที่มีคนเอามาถวายท่านจากประเทศจีน เอามาปั๊มเป็นพระสมเด็จ และเอามาหลอมหล่อเป็นพระสมเด็จ ที่เรียกกันว่า พระสมเด็จถ้ำชา หรือพระเนื้อตะกั่วถ้ำชา

3. เนื้อว่านมงคล ทำจากหัว-ดอก-ใบ-ลำต้น เอามาตากแห้งแล้วบดตำเป็นผงทำผงพื้นพระสมเด็จวัดระฆังในยุคต้นๆ

4. เนื้อกล้วยเนื้อขนุนเปื่อย เนื้อกล้วยเนื้อขนุนมีสองอย่างคือ เนื้อกล้วยขนุนดิบ และเนื้อกล้วยขนุนสุก เนื้อกล้วยขนุนดิบเอาขนุนแก่ที่ยังไม่สุกแกะเอาแต่เนื้อขนุน เอากล้วยน้ำหรือกล้วยหอมจันท์ดิบหวีแก่จัดปอกเปลือกออกแล้วหั่นเป็นชิ้นบางๆ ทั้ง 2 อย่าง แล้วตากให้แห้งเอามาตำ-บดเป็นผงพื้นเนื้อพระ ส่วนเนื้อกล้วย-ขนุนสุกก็เอากล้วยน้ำหรือกล้วยหอมจันท์ที่สุกงอมขนุนเปื่อยที่สุกงอมแกะเอาเนื้อมาตากแห้งเป็นขนุน-กล้วยตาก พอแห้งดีแล้วก็เอามาโขลกตำให้เหนียว เอาไปผสมกับผงพื้นหินบดแล้วเอามาทำพระสมเด็จ เนื้อพระจะออกสีน้ำตาลอมเหลืองหรือเหลืองอมน้ำตาล ผิวมันฉ่ำด้วยน้ำตาลกล้วยขนุนสุก

5. เนื้อกระยาหาร กระยาหารหมายถึงอาหารทุกชนิดทั้งข้าวกับแกงขนมผลไม้ สมเด็จท่านจะฉันรวมกัน ถ้าคำไหนอร่อยท่านจะไม่ฉันเข้าไปเพราะท่านกลัวกิเลสหลงในรสชาติ ท่านจะคายออกเก็บตากแห้งเอาไว้ นำมาทำส่วนผสมของพระสมเด็จเรียกว่าเนื้อกระยาหาร

6. เนื้อดินสอพอง มีพระบางชุดท่านเอาดินสอพองมาเป็นผงพื้นเนื้อพระ วรรณะจะออกขาวแต่เนื้อจะค่อนข้างเปราะแตกหักง่าย จึงไม่นิยมกันมากนัก ทำในยุคแรกของวัดระฆัง ปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมาก

7. เนื้อข้าวหอม ท่านเอาข้าวหอมมะลิคัดเอาข้าวสารที่เมล็ดสวยสมบูรณ์ไม่หัก เอามาหุงให้เป็นข้าวสุก แล้วตากแดดให้แห้งเป็นข้าวตาก พอแห้งสนิทก็เอามาบดตำเป็นผงทำเป็นเนื้อพระ จะมีวรรณะขาวอมน้ำตาล ในเนื้อพระถ้าส่องดูจะเห็นเป็นเม็ดข้าวหรือเป็นไตขาวขุ่น ปัจจุบันยังพอหาได้

 

8. เนื้อผงใบลาน มี 2 ชนิดคือใบลานดิบ เอาใบลานเก่าๆ มาตากแดดให้แห้งกรอบแล้วเอามาบดตำเป็นผงพระจะมีสีน้ำตาล สีมะกอกสุก อีกชนิดเป็นผงใบลานสุกเอาใบลานมาเผาให้เป็นเถ้าถ่านแล้วเอามาบดเป็นผงพระจะมีสีเทาอมดำหรือดำอมเทา พระเนื้อใบลานยังพอหาชมได้

9. เนื้อเทียนชัย เทียนชัยคือเทียนที่ท่านจุดกระทำพิธีปลุกเสกพระเอาฤกษ์เอาชัย เทียนและน้ำตาเทียนที่เหลือท่านจะเอามาป่นผสมทำเป็นเนื้อพระ วรรณะจะออกเหลืองผิวเป็นมันใสๆ

10. เนื้อผงน้ำมัน ท่านจะเอาสีน้ำมันที่แห้งเสียแล้ว หรือเอาชันยาเรือที่ขูดออกจากเรือพระราชทาน เรือกาบกันยา เอามาบดป่นเป็นผงพระ วรรณะจะออกมาตามสีน้ำมัน หรือสีชันยาเรือคือสีน้ำตาล

11. เนื้อหินเปลือกหอยดิบ ทำจากหินเปลือกหอยสุสานหอยล้านปีที่พังงา กระบี่ เอามาตำบดป่นเป็นผงจะออกมาเป็นสีน้ำตาลอ่อน เนื้อจะแข็งแกร่งเป็นหิน ส่วนมากนำมาทำเป็นพระสมเด็จวัดระฆังยุคปลายที่นิยมกันอยู่ขณะนี้

12. เนื้อหินเปลือกหอยสุก ทำจากหินเปลือกหอยจากสุสานหอยล้านปีที่พังงา เอามาเผาไฟจนสุกเป้นปูนขาวมีวรรณะขาว เอามาบดป่นทำเป็นเนื้อพระ ส่วนมากเป็นพระกรุบางขุนพรหมวัดใหม่อมตะรส ซึ่งเนื้อนี้เป็นที่นิยมกันมากในขณะนี้
 

จากเนื้อพระ 12 เนื้อ ตั้งแต่ยุคแรก-ยุคกลาง มาถึงปลายของท่าน ปัจจุบันเป็นที่นิยมกันแค่ 2 เนื้อ คือเนื้อหินดิบ กับเนื้อหินสุก หรือบางคนเรียกเนื้อปูนปั้นเท่านั้น ส่วนเนื้ออื่นๆ อีก 10 เนื้อไม่เป็นที่นิยมกัน จนคนปัจจุบันไม่รู้จักแล้ว บางคนคิดว่าเป็นของปลอม หรือไม่ใช่ของสมเด็จไปแล้ว เซียนพระรุ่นใหม่ในปัจจุบันจึงเล่นพระกันแค่ 2 เนื้อคือเนื้อหินดิบกับหินสุก เนื้ออื่นๆ ไม่เล่นเลย

bottom of page