การสร้างพระสมเด็จ
คราวที่สมเด็จโตได้จาริกไปที่เมืองพระตะบอง มีเจ้าเขมรองค์หนึ่ง ซึ่งสนิทกับเจ้าพระคุณสมเด็จ ได้ปรารภขอให้ท่านสร้างพระเครื่อง ของท่านขึ้นเอาไว้เคารพสักการบูชาป้องกันภัยอันตรายต่างๆ และเป็นเครื่องระลึกถึงท่านด้วย ดังนั้นหลังจากที่สมเด็จกลับจากพระตะบอง จึงเริ่มสร้างพระสมเด็จขึ้นเป็นครั้งแรก
ผงวิเศษ 5 ประการ
คือ ผงอิธะเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และ ผงตรีนิสิงเห ผงทั้งห้านี้เรียนยากนักหนา หลวงปู่หินวัดระฆัง กล่าวว่า พระครูธรรมราช (เที่ยง) วัดระฆัง มีชีวิตอยู่ทันและเป็นศิษย์อายุมากกว่า พระธรรมถาวร และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (มรว.เจริญ) เล่าว่า เจ้าพระคุณสมเด็จ ได้เล่าเรียนการทำผง วิเศษ 5 ประการนี้ กับพระอาจารย์ แสง วัดมณีชลขันธ์ เรียนกันที่จังหวัดอยุธยา สมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าพระคุณก็เคยหนีมาอยู่กับพระอาจารย์แสงที่อยุธยา
จำนวนการสร้างพระสมเด็จ
ครั้งแรกสร้างได้ครบ 84,000 องค์ แต่ครั้งหลังที่นำไปบรรจะที่วัดเกศไชโย อ่างทอง สร้างได้ไม่ครบ มีการนำพระที่สร้างครั้งแรกเป็นพิมพ์ 5 ชั้น 6 ชั้น 7 ชั้น ไปรวมให้ครบ เพื่ออุทิศกุศลให้โยมมารดา
ผู้ช่วยเหลือการสร้างพระสมเด็จ
หลวงปู่หิน วัดระฆัง กล่าวตามที่ได้ทราบจากพระธรรมถาวร ว่า ผู้ช่วยบดผงและพิมพ์พระสมเด็จนั้น มีดังนี้
1. พระธรรมถาวร
2. หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ ทัด สมัยที่ยังทรงเป็นที่ หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุทธบาทปิลันทน์
3. พระธรรมทานาจารย์ แนบ
4. พระธรรมนุกูล (หลวงปู่ภู)
5. พระครูเปี่ยม
6. พระภิกษุ สามเณร เจ้าอาวาสในเขตที่ขึ้นกับเจ้าพระคุณ ตลอดจนชาวบ้าน และชาวจีนสำเพ็ง
วัสดุที่ใช้สร้างพระสมเด็จ
หลวงศรีบาญ กล่าวว่า ได้รับทราบจาก หลวงศุภศิลป์ พระนัดดา (หลาน) ของเจ้าฟ้าอิศราพงษ์ (ต่อมาเป็น สมเด็จ กรมพระบำราบปรปักษ์ )อธิบดีกรมช้างวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า “เสด็จปู่ของท่าน เป็นผู้หนึ่งที่ทรงออกแบบ พิมพ์พระสมเด็จ ท่านทรงประทานเล่าว่า มวลสารที่ใช้สร้างพระสมเด็จส่วนใหญ่เป็น ปูนขาว นอกจากนั้นเป็น ข้าวสุก และกล้วย ส่วนน้ำมันตังอิว นั้นใช้ผสมให้เนื้อทนทาน (แนะนำโดยหลวงวิจารณ์เจียรนัยช่างทองพระจอมเกล้า)
การโขลกเนื้อผสม กระทำต่อหน้าเจ้าพระคุณสมเด็จ โดยเฉพาะเวลาท่านฉันเพล เจ้าพระคุณจะโรยผงวิเศษ ลงในครกใหญ่ใบหนึ่งที่มีมวลสารอยู่แล้ว เมือตำผสมผงวิเศษเข้ากันแล้ว เจ้าพระคุณจะควักออกมาแบ่งเท่า ๆ กันใส่ ในครกอื่น แล้วจึงนำมากดพิมพ์ต่อไป
เนื้อพระสมเด็จ
1.เนื้อผงใบลานเผา ทำน้อยมากเพราะเปลืองผงใบลาน เจ้าพระคุณจะนั่งจานใบลานตลอดเวลา พอมากๆ เข้าก็เอามาสุมไฟ คนที่เห็นก็ว่าท่านบ้า เป็นพิมพ์ปรกโพธิ์ มีทั้งโพธิ์เมล็ด และโพธิ์ใบ ท่านใช้ผสมในพระเนื้อปูนปั้นด้วย
2.เนื้อชานหมาก พระอาจารย์ขวัญ กล่าวว่า ท่านสร้างพระเนื้อชานหมาก คู่กับเนื้อใบลานเผา แต่เนื้อชานหมาก เป็นพิมพ์ทรงพระประธาน (ทั้ง 2 เนื้อ เจ้าพระคุณได้ถวายรัชกาลที่ 5 และได้ทรงแจกข้าราชการในปี 2416 ปีระกาป่วงใหญ่ หลังสมเด็จมรณะ 1 ปี)
3.เนื้อปูนน้ำมัน เหมือนพิมพ์ทรงนิยม แต่เนื้อฉ่ำคล้ายมีน้ำมันอยู่ แต่หาหลักฐานการสร้างไม่ได้
พิมพ์พระสมเด็จ
1.พิมพ์ปรกโพธิ์หลังติดแผ่นกระดาน ของวัดระฆัง มักลงรักน้ำเกลี้ยง หรือ ลงทองล่องชาด หลังมีกระดานติดอยู่ ตามประวัติ เจ้าพระคุณ ได้ติดไว้กับแผ่นกระดาน แต่มรณภาพก่อน เจ้าสัวสอน หวยกข.สมัยรัชกาลที่ 5 (คนละคนกับเจ้าสัวหง) ได้เอาไปติดที่หน้าจั่วบ้านเพื่อเป็นศิริมงคล เมือเจ้าสัวสอนเสียชีวิต ญาติได้รื้อบ้านถวายวัดจักรวรรดิ ต่อมามีคนแกะพระออกจากกระดาน แต่แตกเสียหายจ จึงตัดไม้ตามขนาดพระแล้วฝนกระดานให้บาง
2.พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร (พิมพ์ไกเซอร์) เป็นพิมพ์ที่เจ้าพระคุณแกะแม่พิมพ์เอง พระดูเทอะทะ โบราณ คราวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป พระเจ้าไกเซอร์ เยอรมัน ทรงเห็นแสงเรืองๆ ออกมาจากกระเป๋าเสื้อของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงถามว่าในกระเป๋ามีอะไร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงหยิบพระสมเด็จออกมา พระเจ้าไกเซอร์แปลกพระทัยมาก รับสั่งว่า ปูนหรือ ประหลาดจริงมีแสงสว่างได้ จึงได้ทรงถวายไป และได้รับเกียรติว่า พิมพ์ไกเซอร์แต่นั้นมา
พิมพ์ทรงพิเศษ
พระธรรมถาวรเคยเล่าว่า ครั้งแรกทีเดียว เจ้าพระคุณสมเด็จ สร้างพระแบบ หลังเบี้ย ก่อนต่อมาจึงสร้างแบบสี่เหลี่ยมดินเผา และเนื้อตะกั่วถ้ำชา แต่คนไม่นิยมเหมือนเนื้อผง จึงเลิกสร้างไป และเมื่อแรกๆนั้น เจ้าพระคุณได้ถ่ายทอดแบบพระที่เป็นที่นิยมมาก่อนเช่น พระขุนแผน พระนางพญา พระกำแพงทุ่งเศรษฐี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคนมาเสนอแบบอีกมากมาย เช่น แบบใบโพธิ์ แบบหลังเบี้ย แบบหลังไข่ผ่า แบบจุฬามณี (รูปพระเกศธาตุเจดีย์ มีม่านแหวก ไม่มีองค์พระ) รวมแบบแปลกๆ เหล่านี้ ได้ทั้งหมด 73 แบบ
แบบพิมพ์ทรงพิเศษวังหน้า หลวงศุภศิลป์ เล่าว่า เจ้าฟ้าอิศรพงศ์ (สมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์)เสด็จปู่ทวดของท่านได้เคยอออกแบบ พระสำเด็จเพื่อสร้างถวาย เจ้านายวังหน้า หม่อมเจ้าประสิทธิ์ศักดิ์ จรูญโรจน์ ทรงมีพระสี่เหลี่ยมขนาดเขื่อง เนื้อผงใบลานเผาอยู่ 2 องค์ เป็นการสร้างแต่จำนวนน้อยและแตกหักเสียมาก ในการสร้างในระยะเริ่มแรก ไม่นิยมโดยทั่วไป
พระหลวงพ่อโต เจ้าพระคุณสมเด็จได้สร้างก่อนพระสี่เหลี่ยม แต่เป็นเนื้อดินเผา ขนาด 1 ใน 3 ของหลวงพ่อโต บางกระทิง อยุธยา ค่อนข้างชะลูด ยอดแหลม ไม่ป้านเหมือนอยุธยา องค์พระไม่ล่ำสันขึงขัง สร้างเมื่อครองสมณศักดิ์ที่พระธรรมกิตติ โดยติดกระดานไว้จะประดับโบถ์วัดระฆัง ภายหลังเมื่อท่านสิ้นแล้วมีคนแกะเอาไปหมดเขาว่าดีทางคงกระพัน
การลงรักปิดทอง เจ้าพระคุณได้รับทอง จากคราวเทศน์ที่บ้านตีทอง จึงนำมาปิดพระโดยไม่ได้ปิดว่าเป็นพระคะแนนหรือเป็นพิเศษอะไร ก็ปิดไปตามทองที่มีนั้นเอง
การปลุกเสก
ในเวลาเย็น หลังการทำวัตรสวดมนต์แล้ว ท่านเจ้าพระคุณจะเอาพระสมเด็จ ที่ตากแห้งแล้วใส่บาตรปลุกเสกทุกวันท่านจำวัดที่หอสวดมนต์ บนนั้นจึงมีพระบาตรพระตั้งอยู่เกลื่อนกลาด พระอาจารย์ขวัญกล่าวว่าท่านให้พระช่วยกันปลุกเสกทุกวัน
ตรียัมปวาย ได้จัดพิมพ์ตำราพิจารณาพระสมเด็จ เล่มแรกของประเทศไทย ประมาณ ๖๐๐ หน้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ซึ่งนับถึงวันนี้รวมเป็นเวลา ๖๐ ปีแล้ว ถือเป็นหนังสือพระสมเด็จแห่งวงการเล่มแรกที่สมบูรณ์ที่สุดของวงการพระเครื่อง
"หนังสือพระสมเด็จฯ" เป็นหนังสือที่เรียบเรียงโดย ตรียัมปวาย หรือพันเอก ผจญ กิตติประวัติ หรือ อ.ตรียัมปวาย ผู้บัญญัติศัพท์ เบญจภาคี อันโด่งดัง เป็นหนังสือเชิงวิชาการรวบรวมชีวประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี และตำนานการสร้างพระสมเด็จฯ โดยได้กล่าวไว้ทั้งสามวัดอย่างละเอียด พร้อมด้วยรูปภาพประกอบ (ขาว-ดำ)
.jpg)
หลักฐานล้ำค่า! เอกสารชิ้นสำคัญของประวัติศาสตร์พระเครื่อง! บันทึกหลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ ภิกษุผู้ช่วยสมเด็จโต สร้างพระสมเด็จ
หลวงปู่คำมีความใกล้ชิดกับเจ้าประคุณสมเด็จฯโต วัดระฆังโฆษิตาราม เจ้าประคุณสมเด็จฯโต เรียกท่านว่าหลวงพี่ ท่านไปช่วยเจ้าประคุณสมเด็จฯโตทำพระสมเด็จอยู่เสมอ เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯโตมรณภาพแล้ว หลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ จึงรวบรวมพิมพ์พระต่างๆ ของหลวงปู่โต แล้วทำการบันทึกย่อสั้น ๆ ไว้ มีใจความว่า
…………“พ่อโตบวชพระเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ เกิด ชาตะ ๒๓๓๐ บวชพระ ๖๕ พรรษา มรณะ ๒๔๑๕ บวชเณร ๘ พรรษา บวชตั้งแต่เป็นเณร พ.ศ.๒๓๔๒”
ตัวอักษรดำใหญ่เป็นบันทึกเพิ่มเติมภายหลังว่า
“แต่เป็นบันทึกของหลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ เขียนไว้ถี่ถ้วน เป็นที่เชื่อได้ เป็นประวัติอันแท้จริงของขรัวโตวัดระฆัง แล้วมาลอกต่อเมื่อหลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ ได้มรณภาพ ไปแล้ว ๔ ปี ในราว พ.ศ.๒๔๒๕ แล้วบันทึกนี้ตกอยู่ที่พระครูปลัดมิศร์ และนายพึ่ง ลูกนายเหลี่ยมบ้านช่างหล่อ ได้ไปขอปลัดมิศร์มาลอกเอาไว้ในราว ๒๔๓๙ แล้วนายจอม องค์ช่างหล่อ มาลอกครั้งสุดท้ายเมื่อ ๒๔๔๓
นายจอมเป็นหัวหน้ากองโรงกษาปณ์ ได้ลอกมาจากบ้านช่างหล่อ หลังวัดระฆัง เป็นหลานนายพึ่ง ปฏิมาประกร เคยเป็นเจ้ากรมกษาปณ์หรือช่างสิบหมู่สมัยนั้น ต่อมา หลานนายจอมได้ลอกมาไว้เป็นครั้งสุดท้าย พระคุณท่านได้เป็นพระวิปัสสนาสูง จะหาพระองค์ใดมาเปรียบมิได้”
อีกหน้าเป็นบันทึกของหลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ ต่ออีกว่า
“พิมพ์พระสมเด็จทรงนิยมที่ชาวบ้านทั่วไปรู้จัก
✨พิมพ์ที่ ๑ ทรงพระประธาน มี ๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
✨พิมพ์ที่ ๒ ทรงชายจีวร มี ๑๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๒ พิมพ์
✨พิมพ์ที่ ๓ อกร่องหูยานฐานแซม มี ๓ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
✨พิมพ์ที่ ๔ เกศบัวตูม มี ๔ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
✨พิมพ์ที่ ๕ ปรกโพธิ์มีพิมพ์ที่ไม่แตกมี ๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
✨พิมพ์ที่ ๖ ฐานคู่มีพิมพ์ที่ไม่แตก มี ๓ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
✨พิมพ์ที่ ๗ เส้นด้าย มี ๑๕ พิมพ์ ๆ คะแนน ๒ พิมพ์
✨พิมพ์ที่ ๘ สังฆาฏิ มี ๗ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
✨พิมพ์ที่ ๙ หน้าโหนกอกครุฑ มี ๑๖ พิมพ์ ทั้งพิมพ์ใหญ่
✨พิมพ์ที่๑๐ พิมพ์ทรงเจดีย์ มี ๒ พิมพ์ ๆ คะแนน ๑ พิมพ์
เมื่อพระคุณท่านได้มรณภาพแล้ว รวมพิมพ์พระที่ไม่แตกชำรุดได้ ๑๖๔ พิมพ์
เป็นพิมพ์สมเด็จที่นิยมและไม่นิยม ๘๑ พิมพ์
นอกนั้นเป็นพิมพ์พระอย่างอื่นเสีย ๘๓ พิมพ์
แล้วที่แตกหัก ๘ ถาดทองเหลืองเต็ม ๆ
และพิมพ์ไกเซอร์ที่เสด็จยุโรป ๓๐๐ องค์ ๆ พิมพ์เป็นพระได้แจกให้พระเจ้าไกเซอ
🌟ต่อมาได้ทำพิมพ์เศียรบาตรขึ้นมาแทนพิมพ์ไกเซอ เพราะใครก็อยากได้พิมพ์ไกเซอ เลยเอาพิมพ์เศียรบาตรแทน ต่อมาคนได้เชื่อว่าพิมพ์นี้เป็นพิมพ์ไกเซอ แต่ความจริงไม่ใช่ พิมพ์ไกเซอองค์พระนั่งบนบัว”
✨การรวบรวม บันทึกที่นำมาเป็นสาระให้อ่านนั้น เท็จจริงเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับท่านเองในการใช้วิจารณญาน ✨

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เนื้อตะกั่วถ้ำชา
พระสมเด็จที่สำคัญและหายากอีกประเภทหนึ่งคือ พระสมเด็จเนื้อตะกั่วถ้ำชา หรือเนื้อห่อชา ซึ่งจากบันทึกของหลวงปู่คำ บันทึกว่าเป็นพระที่สมเด็จโตสร้างขึ้น ในครั้งแรกก่อนมาสร้างพระสมเด็จผง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโต ท่านนำเอาเนื้อตะกั่วที่ใช้สำหรับห่อใบชาที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงในขณะนั้น มาสร้างเป็นเนื้อพระสมเด็จ มีข้อสันนิษฐานหนึ่งว่า นอกจากเนื้อตะกั่วถ้ำชาแล้วยังผสมเนื้อเหล็กไหลไพลดำ พระสมเด็จเนื้อตะกั่วถ้ำชาที่สมเด็จโตสร้างมีจำนวนไม่มาก นักนิยมพระเครื่องหลายคนไม่ยอมรับว่าเป็นพระของสมเด็จโต แต่เซียนใหญ่หาเช่ากันแบบเงียบๆ
เนื้อตะกั่่วถ้ำชา คำว่า "ตะกั่่วถ้ำชา" มาจากกล่องหรือกระป๋องที่ใส่ใบชาในสมัยนั้นท่านเอาเศษที่เหลือใช้มาทำพระ พระตะกั่วถ้ำชานี้มี ๒ แบบคือ
๑.แบบทุบ ท่านจะเอาแผ่นตะกั่วบางๆมาทุบกดลงแม่พิมพ์เป็นทรงพระ แบบทุบนี้สามารถม้วนได้คนในสมัยนั้นบางคนที่ได้ไปก็เอาไปม้วนเป็นตะกรุดไว้คล้องคอ แบบทุบที่มีเนื้อหนาก็มี
๒.แบบหล่อท่านเอาเศษตะกั่วที่เหลือมาเทหลอม โดยใช้แม่พิมพ์ที่พิมพ์แล้วมากดกับดินเป็นแผง ๆละ ๒๐ พิมพ์ พอพิมพ์ดินแข็งตัวดีแล้ว ก็เทน้ำตะกั่วที่หลอมละลายลงบนพิมพ์ทิ้งให้เย็นแล้วเอามาตัดขอบให้เรียบร้อย
เสร็จแล้วจึงนำมาปลุกเสก พระพิมพ์ที่หล่อนี้จะมีความหนา พระเนื้อตะกั่วถ้ำชาเท่าที่สืบข้อมูล สันนิษฐานว่า ท่านทำครั้งแรกตอนอายุ ๒๖ ปี อาจจะมีก่อนหน้านี้ นอกจากที่ท่านทำแจกแล้วท่านยังได้นำไปบรรจุกรุด้วย
เช่นกรุวัดลครทำ กรุวัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร) กรุวัดเกศไชโย กรุที่จังหวัดอยุธยา
พระเนื้อตะกั่วถ้ำชาที่บรรจุกรุจะเกิดสนิมแดง
ถ้าไม่ได้บรรจุกรุก็จะเป็นสีดำอมเทา
พระสมเด็จเนื้อตะกั่วถ้ำชามีตำราหลายเล่ม โดยเฉพาะหนังสือนามานุกรมพระเครื่องของ อ.พินัย ศักดิ์เสนีย์ ระบุไว้ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างไว้เมื่อครั้งครองวัดระฆังฯ โดยใช้ " แม่พิมพ์ยุคแรก " ก่อนที่หลวงวิจารณ์เจียรนัยแกะแม่พิมพ์ถวายให้ภายหลัง
พระสมเด็จเนื้อตะกั่วถ้ำชาที่สมเด็จโตสร้างมีจำนวนไม่มาก นักนิยมพระเครื่องบางคน (ความจริงหลายคน) ไม่ยอมรับว่าเป็นพระของสมเด็จโต นอกจากนี้ยังมีพระสมเด็จเนื้อตะกั่วถ้ำชาอีกสำนักหนึ่งซึ่งมีอายุการสร้าง นานกว่าของสมเด็จโตก็คือ พระสมเด็จเนื้อตะกั่วถ้ำชาของวัดบวรมงคล (หรือชื่อเดิมคือ "วัดลิงขบ") แต่ของวัดบวรมงคลจะปิดทองมาแต่ในกรุทุกองค์และสีของตะกั่วจะแลดูคล้ำกว่า
นอกจากนี้เกจิดังยุคก่อนปัจจุบันคือ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ก็มีการนำตะกั่วชนิดนี้มาสร้างเป็นพระพิมพ์สมเด็จ แต่พิมพ์ทรงจะแตกต่างและเนื้อหายังสดใหม่ สามารถแยกแยะได้ไม่ยาก
ยังมีบางวัดนำตะกั่วชนิดนี้มาสร้างเป็นพระพิมพ์สมเด็จย้อนยุคอีกเหมือนกัน นอกจากพระสมเด็จเนื้อผงแล้ว
" วัดระฆัง " ถือว่าเป็นวัดอารามหลวงที่มีอายุเก่าแก่มาก สร้างมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เดิมชื่อว่า วัดบางหว้าใหญ่ ครั้นต่อมาเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทางวัดทำการขุดสระน้ำภายในบริเวณวัดเพื่อสร้างหอเก็บพระไตร ได้ขุดพบระฆังทองเหลืองเก่าใบใหญ่ ซึ่งมีเสียงกังวานมาก และต่อมาภายหลังได้นำไปเก็บไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซึ่งต่อมาทำให้ชาวบ้านทั่วไปหันกลับมาเรียกวัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดระฆังเรื่อยๆ มาจนติดปาก และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดระฆังในที่สุด จวบจนถึงปัจจุบันนี้ นี่แหละเป็นที่ไปที่มาของชื่อ
"วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร"



ในนิยามของคนบางกลุ่ม จึงคิดว่าจะมี "พระสมเด็จแท้" จะมีสักกี่องค์ และที่บอกว่าเป็นพระสมเด็จแท้ จะมีครบทั้ง 3องค์ฺประกอบหรือไม่?
ตามที่ทราบปรากฏบล็อคหรือแม่แบบพิมพ์ พระสมเด็จวัดระฆัง ที่เป็นผู้รับมรดกตกทอด แสดงเอาไว้ในการเปิดกรุ หลวงวิจารณ์เจียนัย มีเท่าไหร่ จริงแท้แค่ไหนอย่างไร เมื่อไม่มีการพิสูจน์ในข้อเท็จจริงให้ปรากฏและให้หมดข้อกังขา กับผู้ที่ศึกษาและสงสัยของที่มา
ส่วนพระสมเด็จ ที่ท่านสมเด็จโต สร้างในยุคต้น และยุคกลาง ที่เป็นแบบพิมพ์ชาวบ้าน และช่างหลวง ที่เรียกว่า "พระพิมพ์"ของท่านสมเด็จโต คงต้องแยกแยะให้ชัดเจนในการเรียก ไม่ใช่มั่วเหมารวมปนเป ไปหมด เราจะยึด แบบใดให้เป็นมาตราฐาน ที่ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ สืบทอดเกี่ยวกับพระสมเด็จ จักรพรรดิแห่งพระเครื่องคู่ไปกับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติสืบไป
แต่"พระพิมพ์"ของท่านสมเด็จโต ต้องมี
1.ผงวิเศษ
2.อายุความเก่าของเนื้อองค์พระ ที่สามารถตรวจสอบได้จากความเป็นของธรรมชาติ ความเก่า และเครื่องมืออันทันสมัยยุคใหม่ตรวจสอบได้
3.แบบพิมพ์ ไม่ได้จำกัด เพราะมีการสร้างจำนวนมาก แบบพิมพ์หักชำรุดได้ง่าย พระหักชำรุดง่าย และไม่ทราบแน่ชัด ไม่มีหลักฐานใดๆบันทึกเอาไว้ให้ใช้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการได้ เป็นแค่คำบอกเล่า
ขอให้บุญกุศล บังเกิดกับทุกท่านที่ได้ศึกษา....