top of page
file1.jpg

สมเด็จวัดระฆัง

ลำดับต่อไปนี้เป็นการคัดลอกจากตำราของอาจารย์ พน นิลผึ้ง

จากหนังสือทีเด็ดพระสมเด็จมาให้อ่านกัน เรื่องความรู้ตามตำรานี่หาอ่านได้ไม่ยาก  

สมเด็จแบ่งออก เป็นส่วนใหญ่ๆดังนี้ ...

 

 

   ๑. สมเด็จพิมพ์ชาวบ้าน  หมายถึงพระสมเด็จที่ชาวบ้านที่เป็นช่าง

 

แกะแม่พิมพ์พระถวายให้ท่าน ที่รู้จักกันทั่วไปเช่น นายเทด แห่งบ้านช่างหล่อซึ่งเป็นหลานชายของสมเด็จโตเอง นายจอน นายเจิม นายเจียน บ้านช่างหล่อ ช่างจีนมี เจ็กตง เจ็กไต๋ เจ็กกง ท่านเหล่านี้ได้แกะพิมพ์ไว้ให้ท่านหลายแบบ เช่น พิมพ์ซุ้มกอ นางพญา พระรอด พระผงสุพรรณ พระขุนแผน พระเม็ดขนุน พระกลีบบัว พระหลวงพ่อโต พระข้างเม็ด พระพิมพ์เล็บมือ พิมพ์ขอบกระด้ง หน้าโหนกอกครุฑไกเซอร์ กลักไม้ขีด ว่าวจุฬา(คล้ายพิมพ์อกครุฑเศียรบาตร) นักเลงโต เศียรโล้น  ซุ้มระฆัง ปิดตา หูไห และพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักอีกหลายพิมพ์ ซึ่งเป็นฝีมือแกะของช่างชาวบ้านทั้งสิ้น บางพิมพ์ดูตลกเลยเรียกว่าพิมพ์ตลกไปเลยก็มี พิมพ์ไม่สวยไม่ได้สัดส่วนไม่ปราณีตงดงาม ส่วนผสมไม่ค่อยดีจึงร้าวง่าย แตกหักเปราะง่าย จึงไม่นิยมกันจะมีเหลืออยู่บ้างก็น้อยมาก ...

 

 

   ๒. สมเด็จวังหน้า กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

 

ทรงให้เจ้าฟ้าอิศราพงศ์และช่างของพระองค์แกะพิมพ์ถวายสมเด็จโตทำแจกพระประยูรญาติและเจ้านายผู้ใหญ่ ข้าราชบริภารในวังหน้า สมเด็จวังหน้ามีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์เช่น พิมพ์เทวดาทรงเครื่อง พิมพ์ซุ้มระฆัง พิมพ์กลีบบัว พิมพ์เศียรโล้น พิมพ์อุ้มบาตร พิมพ์ปิดตา พิมพ์ข้างเม็ด พิมพ์รูปเหมือนสมเด็จโต บางพิมพ์ฝังอัญมณี มีจารึกไว้ข้างหลังและพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก พิมพ์นี้ค่อนข้างมาก มีการลงลักปิดทอง ปัจจุบันลักทองล่อนออกแล้ว พระพิมพ์ชุดนี้เป็นยุคกลางสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯพิมพ์จะสวยกว่าพิมพ์ชาวบ้าน ทำที่วังหน้าโดยเอาผงวิเศษมาทำแล้วให้ท่านปลุกเศกอีกครั้งก่อนแจก ...

 

 

   ๓. สมเด็จวังหลัง กรมหมื่นอดุลย์ลักษณสมบัติ์

 

สมัยรัชกาลที่4 ทรงให้เจ้ากรมช่างสิบหมู่ หลวงวิจิตรนฤมล (พึ่ง จิตรปฏิมากร) แกะพิมพ์ลักษณะสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ถวายสมเด็จโต เป็นพิมพ์ทรงชลูด ทรงต้อลังกา ทรงกรวย ทรงโย้เกศเอียง พิมพ์จะลึกกว่ายุคต้น องค์พระเส้นซุ้มเล็กโปร่งบาง เน้นความเรียบร้อย ความอ่อนช้อยสวยงามเป็นหลัก เส้นซุ้มจะเรียบมีขนาดกลาง มักจะทารงค์ - ลงรัก - ชาด - ทอง - เทือก เพื่อรักษาเนื้อพระไม่ให้แตกหัก ปัจจุบันรักชาด ทองเทือก จะร่อนหลุดแล้ว เหลือเป็นบางจุด ทำให้พื้นผิวพระจะแตกเป็นลายงาหรือลายสังคโลก มวลสารละเอียดเพราะใช้เครื่องบดยามาบดผงพระ มีพิมพ์ที่งดงามอยู่หลายพิมพ์เช่น พิมพ์เกศทะลุซุ้ม พิมพ์ทรงเทวดา พิมพ์ทรงเจดีย์ ไม่มีฐานปิดพิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ซุ้มระฆัง เป็นต้น ...

 

 

   ๔. สมเด็จช่างหลวง  หลวงวิจารณ์เจียรนัย 

 

ช่างหลวงสมัยปลายรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 มีเรื่องเล่าว่าแต่ก่อนภรรยาของหลวงวิจารณ์เป็นคนที่เคารพนับถือสมเด็จโตมาก จะทำสำรับกับข้าวคาวหวานไปถวายสมเด็จเป็นประจำ  บางครั้งดูว่าหลวงวิจารณ์จะมองว่าภรรยางมงายกับสมเด็จโตมากไป  มีการพูดกระแนะกระแหนอยู่บ่อยครั้ง  ต่อมาหลวงวิจารณ์ได้เบิกทองท้องพระคลังมาเพื่อจะทำเครื่องทรงประดับถวายรัชกาลที่ 4 จู่ๆทองที่เบิกมาหายไปจากลิ้นชักที่เก็บ  หลวงวิจารณ์ตกใจได้ไต่ถามคนในบ้านก็ไม่มีใครรู้เห็น  จึงเป็นทุกข์กังวลกินไม่ได้  นอนไม่หลับ  ภรรยาจึงแนะนำให้ท่านไปหาสมเด็จโต  เพื่อจับยามสามตาดู  หลวงวิจารณ์ไม่มีทางใดที่ดีกว่านี้จึงให้ภรรยาทำกับข้าวคาวหวานไปถวายสมเด็จ  ก่อนที่จะพูดเรื่องของตน  สมเด็จท่านรู้ด้วยญาณว่าหลวงวิจารณ์มาหาท่านด้วยเรื่องอะไร  ท่านเลยแซวหลวงวิจรณ์ว่าเดือดร้อนแล้วซิถึงได้มาหา  หลวงวิจารณ์ได้บอกท่านเรื่องทองคำท้องพระคลังที่เบิกมาหายไปอย่างไร้ร่องรอย  สมเด็จท่านตอบว่า  คนใจไม่บริสุทธิ์ก็ทำให้ตามืดมัวสมองสับสนหลงๆลืมๆ  ไปตั้งสติและทำใจให้ดีก็จะพบทองเอง  ทองไม่ได้ไปไหน  แต่ความเขลาทำให้มองไม่เห็น  หลวงวิจารณ์กลับไปบ้านไปสวดมนต์นั่งสมาธิ  แล้วมาค้นหาทองก็พบทองอยู่ในที่เดิม  เรื่องแบบนี้โบราณเรียกว่าผีลักซ่อน  หลวงวิจารณ์จึงเลื่อมใสศรัทธาสมเด็จโตมาก  ไปมาหาสู่เอาอาหารคาวหวานไปถวายท่านพร้อมภรรยาอยู่เป็นนิจ  ครั้นท่านได้ไปวัดได้ไปเห็นการทำพระสมเด็จแต่ดูพิมพ์ทรงไม่สวยไม่ถูกตามพุทธลักษณะ  ด้วยหลวงวิจารณ์เป็นนักสะสมพระบูชาจึงรู้พุทธลักษณะที่งดงามของพระเชียงแสน  สุโขทัย  ลังกา  อู่ทอง  ลพบุรี  จึงเอาแบบพุทธศิลป์  พุทธลักษณะที่งดงามของพระบูชาดังกล่าวมาแกะเป็นแม่พิมพ์พระสมเด็จถวายแด่สมเด็จโต  จนกลายเป็นพิมพ์สมเด็จที่นิยมมาถึงปัจจุบัน  และยังมีน้ำมันตังอิ๊วจากจีนมาเป็นส่วนผสมเนื้อพระสมเด็จทำให้พระสมเด็จ  เนือ้หนึก นุ่ม แกร่ง  ไม่ร้าวไม่แปราะไม่แตกหักอีกต่อไป ...

 

 

   ๕. สมเด็จสองคลอง  คือพระสมเด็จวัดระฆังที่สมเด็จพุฒาจารย์โตพรหมรังสี 

 

นำไปผสมกับพระสมเด็จวัดใหม่อมตะรสบางขุนพรหม  เพื่อให้ครบจำนวน  84000  องค์เท่ากับพระธรรมขันธ์ตามหลักนิยมในการพระบรรจุกรุ ...

 

 

   ๖. สมเด็จตกเบ็ด  คือพระสมเด็จกรุบางขุนพรหม 

 

ที่ถูกขโมยออกจากกรุก่อนเปิดกรุ  เป็นพระที่อยู่ในช่วงบนหรือรอบนอกของกองพระในกรุและอยู่ในกรุได้ไม่นาน จึงมีคราบกรุน้อยและบาง  การขโมยพระสมเด็จบางขุนพรหมโดยการตกเบ็ด  ขโมยจะใช้ของเหนียวๆ เช่นดินเหนียว ยางไม้ กาวจิ้งจก ผูกเชือกแล้วนำไปผูกกับปลายไม้  หย่อนตกลงไปตามช่องที่เจาะ  พระติดของเหนียวที่ติดขึ้นมาเรียกว่าสมเด็จตกเบ็ด ...

 

 

   ๗. สมเด็จบางขุนพรหมกรุเก่า  คือสมเด็จบางขุนพรหมกรุวัดใหม่อมตะรสที่มีคนลักลอบตกเบ็ดขโมยขุด 

 

ออกมาจากเจดีย์ที่บรรจุกรุพระไว้ก่อนที่จะมีการเปิดกรุเป็นทางการเมื่อ  พ.ศ. 2500  นั่นคือพระกรุบางขุนพรหมถ้าออกมาก่อนเปิดกรุจริงเรียกว่าพระกรุเก่าทั้งสิ้น  ลักษณะของพระกรุเก่าจะมีคราบกรุน้อย  บางองค์แทบจะไม่มีเลย ...

 

 

   ๘. สมเด็จบางขุนพรหมกรุใหม่  คือพระสมเด็จบางขุนพรหมที่เปิดจากกรุบางขุนพรหม เมื่อพ.ศ. 2500 

 

เรียกกันเป็นบางขุนพรหมกรุใหม่  จะมีคราบกรุมากและหนากว่าพระกรุเก่า  สมเด็จบางขุนพรหมกรุใหม่และกรุเก่าก็คือสมเด็จบางขุนพรหมจากกรุเดียวกันนั่นเอง ...

 

 

   ๙. สมเด็จสัตตศิริ  คือพระสมเด็จที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นศิริมงคล 

 

โดยสร้างพระให้มีสีตามวันทั้ง เจ็ดวัน  คือวันอาทิตย์สีแดง  วันจันทร์สีเหือง  วันอังคารสีชมพู  วันพุธสีเขียว  วันพฤหัสสีส้ม  วันศุกร์สีฟ้า  วันเสาร์สีม่วง  เป็นลักษณะพระสีประจำวัน  แต่บางองค์จะทำองค์เดียวเจ็ดสีเลยก็มี  สมเด็จสัตตศิริสร้างที่วัดพระแก้ว  กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเจ้าฟ้าอิศราพงศ์แกะพิมพ์ และเอาผงสมเด็จจากวัดระฆังมาผสมในเนื้อสัตตศิริ  สร้างแจกพระประยูรญาติ และเจ้านายผู้ใหญ่ คนในวังหน้า  ส่วนที่เหลือได้นำไปบรรจุกรุเจดีย์ไว้ที่วัดพระแก้ว  มีหลายพิมพ์ทรงตามพระวังหน้า  พิมพ์ที่นิยมคือพิมพ์พระแก้วมรกต  และพิมพ์เกศทะลุซุ้ม ...

 

 

 ๑๐. สมเด็จนางใน  

 

เรื่องสมเด็จนางในนี้ทราบว่า  เมื่อครั้งสมเด็จโตได้เข้าไปเทศนาในวังสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านได้แจกพระสมเด็จแก่คนในวังเป็นสมเด็จชิ้นฟักขนาดใหญ่  สนมนางในวังได้บอกท่านว่า  ท่านทำแต่พระองค์ใหญ่ๆ เหมาะสำหรับผู้ชาย  อยากให้ท่านทำพระองค์เล็กๆ ที่เหมาะแก่ผู้หญิงที่จะเอามาห้อยคอบ้าง  ท่านจึงไปทำสมเด็จขนาดเล็กที่เหมาะแก่เด็กและผู้หญิง  ดังเช่นพิมพ์สมเด็จแหวกม่านชั้นเดียวดูสวยงามมาก  และแจกให้แก่สนมนางในไว้ใช้บูชา  จึงเรียกพระสมเด็จพิมพ์นี้ว่าสมเด็จนางในนี่เอง  คงจะไม่มีมากนักเพราะทำแจกแต่เพาะสนมนางในเท่านั้น ...

 

 

  ๑๑. สมเด็จยายจันทร์  ยายจันทร์เป็นแม่ค้าขายของอยู่แถวใกล้ๆวัดระฆัง

 

มีฐานะยากจนแต่ใจบุญสุนทาน  เอาสำรับกับข้าวมาถวายสมเด็จบ่อยๆ  วันหนึ่งสมเด็จท่านถามยายจันทร์ว่าหมู่นี้ค้าขายเป็นอย่างไร  ยายจันทร์ตอบว่า แย่มีแต่พอทุนและขาดทุนขายไม่ค่อยดี  จึงต้องมาหาท่านบ่อยๆเผื่อจะขายของได้ดีบ้าง  สมเด็จโตจึงให้พระพิมพ์  นางพญาเนื้อสมเด็จ  แก่ยายจันทร์ไป  แล้วบอกมาว่าต่อไปนี้คงขายของได้ดีมีกำไร  รำรวยจะได้ไม่ต้องมาหาบ่อยๆ  ตั้งแต่ยายจันทร์ได้ของไปก็ค้าขายร่ำรวยจริงๆ  พระสมเด็จนางพญาพิมพ์นี้จึงเรียกขนานนามกันต่อมาว่า  สมเด็จยายจันทร์ตั้งแต่นั้นมา ...

สองกระบวนวิธีการในการศึกษาพระสมเด็จวัดระฆัง 

                                                                                                        

 ... รศ.ดร.ชัยพร พิบูลศิริ ...

 

 

บทความเรื่องนี้ผู้เขียนนำกระบวนวิธีการทางศาสตร์ ๒ แบบคือ กระบวนวิธีการเชิงอุปนัย  (Deductive Method) และกระบวนวิธีการเชิงนิรนัย (Inductive Method) มาเป็นเครื่องมือในการอธิบายและตัดสินความเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง โดยเชื่อว่า ถ้าเราสามารถทำให้การศึกษาเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น องค์ความรู้เรื่องนี้จะมีความเป็นสากลมากขึ้น สาธารณชนจะได้รับความรู้ ความเข้าใจ และเกิดศรัทธาเชื่อมั่นในองค์สมเด็จวัดระฆังมากยิ่งขึ้น ...

 

 

... แนวความคิดที่ใช้ในการศึกษา ...

 

 

แนวความคิดแรกเป็นเรื่องของศาสตร์ ศาสตร์คือองค์ความรู้ (A body of Knowledge) ที่เป็นระบบ

ศาสตร์มีองค์ประกอบ ๒ ด้าน คือ ความรู้ในเชิงข้อมูลข้อเท็จจริงรูปธรรม (Factual-Concrete) กับความรู้ในเชิงข้อสรุปนามธรรม กฎเกณฑ์ (Abstract-Rule) องค์ความรู้ที่สมบูรณ์ของศาสตร์ จะต้องประกอบด้วยความรู้ทั้ง ๒ ด้าน ดังกล่าวข้างต้นเสมอ  กระบวนการแสวงหาความรู้ทางศาสตร์มี ๒ กระบวนการ คือ กระบวนการ Inductive กับกระบวนการ Deductive (แผนภูมิที่ ๑) ...

 

  

 

ความรู้ที่มีที่มาจากกระบวนการทาง Inductive คือความรู้ที่ได้มาจากข้อมูลเชิงรูปธรรมแล้วสรุปเป็นกฎเกณฑ์เชิงนามธรรม ดังนี้ ...

ข้อมูลเชิงรูปธรรมที่ผ่านการจัดระบบ à ตั้งสมมติฐาน à วิเคราะห์ตรวจสอบสมมติฐานกับกรอบแนวคิด à ข้อสรุป กฎเกณฑ์ ...

 

ส่วนความรู้ที่มีที่มาจากกระบวนการทาง Deductive คือความรู้ที่มาจากข้อสรุปแนวคิดนามธรรมไปสู่ข้อมูลรูปธรรม แล้วนำมาตั้งเป็นกฎเกณฑ์ ดังนี้ ...

กรอบแนวคิดนามธรรม à ตั้งสมมติฐาน à วิเคราะห์ตรวจสอบสมมติฐานกับข้อมูล à ข้อสรุป กฎเกณฑ์ แนวความคิดที่สองเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับศิลปะสกุลช่างของพระสมเด็จวัดระฆัง

ศิลปะสกุลช่างของพระสมเด็จวัดระฆัง สามารถแบ่งได้ ๒ แบบ คือ ...

 

 

๑.     ศิลปะสกุลช่างแบบดั้งเดิม (Classical Type)

 

เป็นพระพิมพ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

สร้างในยุคต้นๆ โดยสร้างเลียนแบบรูปพรรณพิมพ์ทรงของพระหลักนิยมแต่โบราณ หรือสร้างเป็นพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ฝีมือสกุลช่างชาวบ้าน พบเห็นน้อย ยังไม่สามารถกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ได้ในปัจจุบัน  แต่ถ้าศาสตร์เรื่องนี้พัฒนาขึ้น เป็นไปได้ว่าในอนาคต เราอาจจะได้เห็นพระสมเด็จวัดระฆังในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ...

 

 

๒.    ศิลปะสกุลช่างหลวงวิจารณ์เจียรนัย หรือแบบมาตรฐานที่คุ้นเคย (Conventional Type)

 

เป็นพระพิมพ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สร้างในยุคหลัง ศิลปะพิมพ์ทรงแสดงเอกลักษณ์ทางสกุลช่างที่มีความงดงามในเชิงช่างและพุทธศิลป์  นิยมเล่นหากันในปัจจุบัน จำนวนพระที่พบเห็นมีมากพอจนสามารถกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ว่ามี ๕ พิมพ์ทรง ๑๑ ตัวบ่งชี้ และ ๓๕ ตัวชี้วัด ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป ...

อนึ่ง ไม่ว่าพระสมเด็จวัดระฆังจะถูกจัดให้อยู่ในแบบใด สกุลช่างใด พระทุกองค์จะมีจุดร่วมที่บ่งชี้

ตรงกันคือต้องมีธรรมชาติความเก่าถึงอายุ ๑๕๐ ปี ชัดเจนแน่นอน ...

 

 

... สองกระบวนวิธีการศึกษาพระสมเด็จวัดระฆัง ...

 

กระบวนการแรกผู้เขียนขอเริ่มจากกระบวนวิธีการทาง Deductive ก่อนอื่นต้องทำการสร้างกรอบแนวคิด ในที่นี้ ผู้เขียนได้เลือกตัวแบบของพระสมเด็จสกุลช่างหลวงวิจารณ์เจียรนัยแบบมาตรฐานสากลนิยม ในทางทฤษฎีจะต้องกำหนดตัวชี้วัดให้กับพระสมเด็จแบบนี้ให้ละเอียดชัดเจนที่สุด เพื่อเอาไปใช้ในการวิเคราะห์ในขั้นตอนต่อไป ...

 

 

 

  พระสมเด็จวัดระฆัง แบบมาตรฐานนิยม  มีตัวบ่งชี้ ๑๑ ตัว คือ ...

 

  ๑.  พิมพ์ทรง ในภาพรวม

  ๒. สัญญลักษณ์ ทางพิมพ์ทรงด้านหน้า

  ๓.  สัญญลักษณ์ ของด้านหลัง

  ๔.  สัญญลักษณ์ ของขอบด้านข้าง

  ๕.  ลักษณะ ของเนื้อพระ

  ๖.  ลักษณะ ของมวลสาร

  ๗.  ลักษณะ ของผิวพระ

  ๘.  ลักษณะ ของวรรณะพระ

  ๙.  สัณฐาน ขนาดของพระ

 ๑๐.น้ำหนัก

 ๑๑.ธรรมชาติ ของพระ

 

...ซึ่งตัวบ่งชี้ทั้ง ๑๑ ตัวจะถูกแบ่งย่อย เป็นตัวชี้วัดในรายละเอียด ๓๕ ตัวชี้วัด ดังนี้ ...

 

              ๑.  ความถูกต้องของพิมพ์ทรงในภาพรวม

              ๒.  พระเกศ

              ๓.  พระพักตร์

              ๔.  พระกรรณ

              ๕.  พระศอ

              ๖.  พระอังสา

              ๗.  ลำพระองค์

              ๘.  พระพาหา

              ๙.  พระกร

              ๑๐.พระหัตถ์

              ๑๑.พระเพลา

              ๑๒.พระอาสนะ

              ๑๓.ซุ้มประภามณฑล

              ๑๔.พื้นที่ภายในซุ้มประภามณฑล

              ๑๕.พื้นที่ภายนอกซุ้มประภามณฑล

              ๑๖.เส้นกรอบพิมพ์ทรง

              ๑๗.รูพรุนปลายเข็ม

              ๑๘.รอยปูไต่

              ๑๙.รอยหนอนด้น

             ๒๐.รอยกาบหมาก

             ๒๑.รอยกระดาน

             ๒๒.รอยสังขยา

              ๒๓.รอยปริขอบ

              ๒๔.แนวดิ่งของขอบ

              ๒๕.รอยเส้นตอกตัด

              ๒๖.ความซึ้งของเนื้อพระ

               ๒๗.ความชัดเจนของมวลสาร

              ๒๘.ความถูกต้องของผิวพระ

              ๒๙.ความถูกต้องของวรรณะ

              ๓๐.สัณฐานขนาดของพระ

               ๓๑.น้ำหนัก

              ๓๒.ความแห้ง

             ๓๓.รอยยับ ย่น ยุบ แยก เหนอะ

              ๓๔.ปฏิกิริยาปูน

             ๓๕.ปฏิกิริยาตังอิ้ว

 

กระบวนการศึกษา ขั้นตอนต่อไปเราก็เอาตัวชี้วัดทั้ง ๓๕ ตัวชี้วัด มาสร้างแบบประเมินค่า (Rating Scale)  โดยมีคำตอบเป็นระดับ  และให้คะแนนระดับของความถูกต้องชัดเจน คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด  การให้คะแนนเป็นดังนี้

ถูกต้องชัดเจน มากที่สุด   ๕   คะแนน

ถูกต้องชัดเจน มาก           ๔   คะแนน

ถูกต้องชัดเจน ปานกลาง  ๓   คะแนน

ถูกต้องชัดเจน น้อย          ๒   คะแนน

ถูกต้องชัดเจน น้อยที่สุด   ๑   คะแนน

 

 

หลังจากนั้นจึงนำคะแนนที่ได้ไปวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยของความถูกต้องชัดเจน

โดยให้เกณฑ์ระดับของค่าเฉลี่ยดังนี้      

๓.๖๗ – ๕.๐๐  =  ระดับ สูง            

แสดงว่า พระเป็นของจริง

๒.๓๓ –๓.๖๖  =  ระดับ ปานกลาง  แสดงว่า จริงกับไม่จริงเท่ากัน

๑.๐๐ – ๒.๓๒ =  ระดับ ต่ำ              แสดงว่า พระเป็นของไม่จริง

 

เมื่อสร้างเครื่องมือเสร็จแล้ว ผู้เขียนได้ลองนำเครื่องมือที่สร้างขึ้นนี้ไปทดสอบ (Pretest)

กับพระสมเด็จจำนวน ๑๕ องค์ ผลการทดสอบได้ค่าความเชื่อมั่น ๐.๙๖ แสดงว่า

เครื่องมือนี้มีค่าความเชื่อมั่นสูง ...

 

 

กระบวนการต่อไป เราก็เอาเครื่องมือนี้ไปวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) กับข้อมูลรูปธรรม คือพระองค์ที่เราต้องการหาคำตอบ ไม่ต้องตั้งสมมติฐาน เพราะเราต้องการคำตอบเพียงแค่ ใช่หรือไม่ใช่ จริงหรือไม่จริง และพระองค์นี้มีระดับของความถูกต้องชัดเจน มากน้อยเพียงใด  ขั้นต่อไปเมื่อเครื่องมือที่สร้างขึ้นนี้ ถูกนำไปใช้ทดสอบได้ผลเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เครื่องมือนี้ก็จะถูกยกระดับขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ของการศึกษาและตัดสินพระสมเด็จวัดระฆังได้ในอนาคต

กระบวนการที่สอง เป็นกระบวนวิธีการทาง Inductive สมมติว่าเรามีพระเนื้อผงองค์หนึ่ง อยากจะรู้ว่าพระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดระฆังหรือไม่ กระบวนการเตรียมการเพื่อการวิเคราะห์เริ่มจากการจัดระบบให้กับข้อมูลคือพระก่อน ประการแรกให้ดูว่าตัวบ่งชี้ธรรรมชาติความเก่าของพระถูกต้องตรงกับตัวชี้วัดหรือไม่ ถ้าถูกต้องตรงกันแสดงว่าข้อมูลเที่ยงตรง (Valid) สามารถใช้วิเคราะห์ได้  แต่ถ้าไม่ถูกต้องตรงกับตัวชี้วัดก็จบเกมส์ ...

 

 

ต่อไปเป็นการเลือกตัวแบบสกุลช่างที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคระห์ ถ้าพิมพ์ทรงของพระตรงกับตัวแบบมาตรฐานนิยม (Conventional Type) การวิเคราะห์เราก็ใช้วิธีเดียวกับแบบ Deductive ที่ได้อธิบายไปแล้วตอนต้น ก็จะได้คำตอบตามที่เราอยากรู้

แต่ถ้าพิมพ์ทรงของพระมีความใกล้เคียงหรือตรงกับตัวแบบสกุลช่างชาวบ้านดั้งเดิม (Classical type) การวิเคราะห์ต้องทำในเชิงตรรกะ (Logical Analysis) เริ่มแรกให้สร้างตัวบ่งชี้และตัวชี้วัดให้กับพระที่เราจะหาคำตอบ แล้วนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับตัวบ่งชี้และตัวชี้วัดของตัวแบบสกุลช่างชาวบ้าน เพื่อหาความเหมือนที่ตรงกัน จะสร้างแบบประเมินค่าเพื่อวัดระดับความถูกต้องชัดเจนด้วยก็ได้ ...

 

เนื่องจากปัจจุบัน เรายังไม่สามารถสร้างกฎเกณฑ์ของตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนให้กับพระสมเด็จสกุลช่างชาวบ้านได้ในขณะนี้ อาจจะเป็นด้วยว่าจำนวนพระที่พบเห็นมีน้อยมาก ดังนั้นข้อสรุปในส่วนนี้ จึงได้คำตอบเพียงค่าระดับความน่าจะเป็นเท่านั้น ...

 

 

เพื่อให้ได้ข้อสรุปกฎเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น อันเป็นผลจากการศึกษาตามกระบวนการที่สอง เราจำเป็นต้องศึกษาจากตัวอย่างข้อมูลจำนวนมาก และทำการศึกษาวิเคราะห์หลาย ๆ ครั้ง  ผลที่ได้เมื่อมีนัยสำคัญ เราก็สามารถตั้งเป็นกฎเกณฑ์ได้ในอนาคต ...

 

 

โดยทั่วไปเจ้าของพระมักจะมีอคติเป็นบวกกับพระของตน ดังนั้นข้อควรสังวรณ์มากที่สุดเพื่อให้ผลการวิเคราะห์ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด เราต้องให้ค่าพระของเราเป็นเพียงข้อมูลเชิงวัตถุของการศึกษาเท่านั้น  ไม่เอาค่านิยมเข้ามามีอิทธิพล ข้อสรุปคำตอบที่ได้อยู่ที่เครื่องมือและวิธีการเท่านั้น

บทความชิ้นนี้อาจจะมีเนื้อหาแตกต่างไปจากข้อเขียนที่ท่านคุ้นเคยอ่าน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่การศึกษาและการให้คำตอบเกี่ยวกับพระเครื่อง ควรจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากความเป็นอัตตวิสัย (Subjective) รู้กันเฉพาะตน (Privacy) ไปสู่ความเป็นภาววิสัย (Objective) ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ (Publicity) พระเครื่องควรจะมีคุณค่า มีความหมายมากขึ้น พระเครื่องเป็นของสูง เป็นของบริสุทธิ์ เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมและเป็นสิ่งแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ  ผู้มุ่งมั่นศึกษามีความรู้เรื่องนี้จริงคือปราชญ์ ไม่ใช่เซียนพระตามที่เข้าใจกัน ...

 

                                                         

* บทความลงพิมพ์ใน '' สมุดสมเด็จ ๖ '' ๒๕๕๔ * 

bottom of page