top of page
ลูกหินบทคัดย่อ

ประวัติพระกริ่ง แห่งสยามประเทศ

พระกริ่ง อันเป็นนามเรียกพระหล่อโลหะ ขนาดเล็กที่เขย่าแล้วมีเสียงกรุ๊ก กริ๊กๆ ซึ่งปัจจุบันพบเห็น บูชากันได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับประวัติการสร้างพระกริ่งนั้น ในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ มีประวัติการสร้างพระกริ่งมายาวนานพอสมควร


และพระกริ่งอันลือชื่อของประเทศไทยนั้น จากจุดกำเนิดแห่งเดียวและได้แยก แตกสายออกไป สร้างพระกริ่งกันหลายวัด หลายสำนัก ที่โด่งดังคือ ๑. วัดบวรนิเวศวิหาร ๒.วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส (วัดสามปลื้ม) ๓. วัดสุทัศน์เทพวราราม



ที่มาของพระกริ่ง


รูปแบบองค์พระกริ่งมาตรฐาน มีพระพุทธลักษณะประทับนั่งบนกลีบบัวคว่ำ บัวหงาย ปางมารวิชัย เพียงแต่บนพระหัตถ์ซ้ายจะปรากฎหม้อยาบ้าง วัชระบ้าง ซึ่งองค์พระกริ่งนี้ได้ถูกจำลองจาก "พระไภสัชคุรุ" เป็น พระพุทธเจ้าปางหนึ่งของลัทธิมหายาน ซึ่งหมายความว่า ทรงเป็นครูในด้านเภสัช คือ การรักษาพยาบาล


ทั้งนี้นิกายมหายานได้เผยแพร่สู่ดินแดนธิเบต จีน และกัมพูชา จึงมีคติสร้างพระกริ่งเพื่อทำการสักการะบูชา


ในประเทศจีนและธิเบต ฝ่ายไทยเรียก พระกริ่งนอก, พระกริ่งใหญ่ หมายถึงพระกริ่งนอกประเทศ ส่วนพระกริ่งใหญ่ หมายถึงพระกริ่งที่มีขนาดใหญ่ พระกริ่งจีนมีความอวบอิ่มบนพระพักตร์ แสดงความเป็น "จีน" เอาไว้อย่างเต็มรูปแบบ และส่วนใหญ่เป็นการสร้างเพื่อไว้เป็นพระบูชาประจำราชวงศ์


ภาพพระกริ่งจีนใหญ่ เนื่องจากองค์ล่ำสัน มีขนาดใหญ่จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อ







ในประเทศกัมพูชา ฝ่ายไทยเรียก พระกริ่งอุบาเก็ง (พระกริ่งพนมบาเค็ง – พระกริ่งหนองแส) และพระกริ่งพระปทุมสุริยวงศ์


พระกริ่งหนองแส เป็นพระกริ่งอีก องค์หนึ่งที่ขุดพบในประเทศเขมร บนเขาพนมบาเค็ง แต่ความจริงแล้วเป็นพระกริ่งที่สร้างอยู่ที่หนองแส หรือเมืองแส แห่งอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งแต่เดิมก็เป็นอาณา จักรของคนไทยเชื้อสายหนึ่ง ในปัจจุบันคือมณฑลฮุนหนำในประเทศจีน ผู้ที่สร้างพระกริ่งหนองแส สันนิษฐานว่า เป็นพระกริ่งที่กษัตริย์ราชวงศ์หนองแสได้สร้างขึ้น ในขณะที่อาณาจักรน่านเจ้ารุ่งเรืองที่สุด น่าจะเป็นสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ หรือขุนบรม ปกครองอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. ๑๒๗๐ – ๑๒๙๐ ซึ่งมีความสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนและทิเบต








พระกริ่งตั๊กแตน หรือพระกริ่งเขมร นี้มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศกัมพูชา สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจ และได้สร้างกันต่อๆ มาหลายยุคหลายสมัย แต่ที่นิยมเสาะหากันนั้นเป็นพระกริ่งที่สร้างขึ้นในยุคแรกๆ ซึ่งพระพักตร์ของพระกริ่งตั๊กแตนในยุคแรกๆ นั้น จะมีพระนาสิกใหญ่ พระเนตรจะเป็นรอยลึกลงไปในเนื้อพระ ที่มักเรียกกันว่าตาเจาะ สันนิษฐานว่าเวลาสร้างหุ่นเทียนนั้นคงจะใช้วัสดุเซาะขีดลงไปในหุ่นเทียน พระโอษฐ์ก็เป็นการเซาะขีดลงไปในหุ่นเทียนเช่นกัน พระศกเป็นเม็ดกลมๆ พระเกศจะเป็นตุ้มกลมๆ เช่นกัน คนในสมัยก่อนคงจะเห็นลักษณะแปลกๆ คล้ายหน้าตั๊กแตนหรืออย่างไรไม่ทราบได้ จึงเรียกพระกริ่งชนิดนี้ว่า "พระกริ่งหน้าตั๊กแตน" และเป็น "พระกริ่งตั๊กแตน" ในที่สุด


พระ กริ่งตั๊กแตนนี้เป็นการสร้างแบบปั้นหุ่นเทียนที่ละองค์ ดังนั้น พระแต่ละองค์จะไม่มีองค์ใดๆ เลยที่จะเหมือนกันเปี๊ยบ เนื่องจากไม่ได้ถอดหุ่นเทียนออกมาจากแม่พิมพ์ จะมีขนาดใหญ่เล็กต่างกันไปไม่มากก็น้อย การวางพระหัตถ์ก็จะไม่เหมือนกันทีเดียวนัก กล่าวคือมีทั้งปางสมาธิและปางมารวิชัย และปางมารวิชัยกลับด้าน หรือที่นิยมเรียกกันว่าปางสะดุ้งกลับ การถือสิ่งของในมือก็เช่นกัน มีทั้งแบบที่ไม่ถืออะไรเลย จนมีถือดอกบัวบ้าง ถือหม้อน้ำมนต์บ้าง ถือหอยสังข์บ้างก็มี พระทุกองค์จะมีประคำสวมใส่ที่คอทุกองค์ และบัวที่ฐานก็มีแบบต่างๆ เช่น บัวฟันปลา บัวตุ่ม บัวย้อย บัวเม็ดมะยม และบัวฟองมัน เป็นต้น


พระกริ่งตั๊กแตนเป็นพระกริ่งที่บรรจุกริ่งใน ตัว มีรอยอุดที่ด้านหลังแถวๆ สะโพก ที่ใต้ฐานมักทำเป็นลักษณะคล้ายเลขหนึ่งไทย ลักษณะการปั้นเป็นเส้นแบบขนมจีนและขดวางลงไปที่หุ่นเทียน มีความหมายถึงคำว่า "โอม" พบว่าบางองค์เป็นฐานเรียบๆ ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ก็มี ส่วนเนื้อหาพระกริ่งตั๊กแตนยุคต้นๆ นั้นจะเป็นเนื้อสำริดแก่เงิน ผิวจะเป็นสีดำคล้ำๆ





พระกริ่งพระปทุมสุริยวงศ์


ซึ่งเป็นที่เรียกกันเพื่อเป็นที่รู้กันว่าเป็นพระกริ่งที่สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมัน เป็นพระกริ่งที่เก่าแก่ แต่อายุการสร้างน้อยกว่าพระกริ่งหนองแส ซึ่งปรากฏว่าเจ้าเมืองเขมรที่เสด็จมาประเทศไทย ได้ถวาย “พระกริ่งปทุมสุริยวงศ์” แก่สมเด็จกรมพระปวเรศฯ ไว้องค์หนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เค้ามาเป็นแบบอย่างของพระกริ่งปวเรศ อันโด่งดัง

นิราศนครวัด ความตอนหนึ่งว่า


“อนึ่งเรา(สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) มาเที่ยวนี้ได้ตั้งใจสืบสวนเรื่องหนึ่งคือการสร้างพระพุทธรุปองค์เล็กๆซึ่งเรียกกันว่า พระกริ่ง เป็นของนับถือและขวนขวายหากันในเมืองเรามาแต่ก่อน กล่าวกันว่าเป็นของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์สร้างไว้ เพราะได้ไปจากเขมรทั้งนั้น เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ พระอมรโมลี(นพ) วัดบุปผาราม ลงมาส่งพระมหาปาน ราชาคณะธรรมยุติ ในกรุงกัมพูชาองค์แรก ซึ่งต่อมาได้เป็น สมเด็จพระสุคนธ์ นั้น มาได้พระกริ่งขึ้นไปให้คุณตา (พระยาอัมภันตริกามาตย์) ท่านให้แก่เราแต่ยังเป็นเด็กองค์เล็ก เมื่อเราบวชให้เป็นสามเณรนำไปถวายสมเด็จฯ (สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์)ทอดพระเนตท่านตรัสว่าเป็นพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ นั้นมี ๒ อย่าง เป็นสีดำอีกอย่างหนึ่งเป็นสีเหลืององค์ย่อมกว่าสีดำมากกว่าสีดำอย่างหนึ่ง แต่สีเหลืองนั้นเราไม่เคยเห็นของผู้อื่นเป็นสีดำทั้งนั้น


ต่อมาเมื่อเราอยู่กระทรวงมหาดไทย พระครูเมืองสุรินทร์เข้ามากรุงเทพ เอาพระกริ่งมาให้อีกองค์หนึ่ง ก็เป็นอย่างสีดำ ได้พิจารณาเทียบเคียงกับองค์ที่คุณตาให้เหมือนกันอย่างไม่มีผิดเลย จึงเข้าใจว่าพระกริ่งนั้นแต่เดิมเห็นจะตีพิมพ์ทำทีละมากๆและรูปสัณฐานเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปอย่างจีน มาได้หลักฐานเมื่อเร็วๆนี้ด้วย ราชทูตต่างประเทสคนหนึ่งเคยไปอยู่เมืองปักกิ่ง ได้พระกริ่งทองของจีนมาหนึ่งองค์ ขนาดเท่ากันแต่พระพักตร์มิใช่พิมพ์เดียวกับพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ แต่ถึงกระนั้นก็เป็นหลักฐานว่าพระกริ่งเป็นของจีนคิดแบบอย่างตำราในลัทธิฝ่ายมหายาน เรียกว่า ไภษัชคุรุ เป็นพระพุทธรูปปางทรงถือเครื่องบำบัดโรค ถือบาตรน้ำมนต์หรือผลสมอ สำหรับบูขาเพื่อป้องกันโรคาพาธและอัปมงคลต่างๆ


เพราะฉะนั้นพระกริ่ง จึงเป็นพระสำหรับทำน้ำมนต์ เรามาเที่ยวนี่จึงตั้งใจสืบหาหลักฐานว่า พระกริ่งนั้นหากันได้ที่ใหนของเมืองเขมร ครั้นมาถึงพนมเปญพบพระเจ้าพระสงฆ์เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ลองไต่ถามก็ไม่มีใครรู้หรือเคยพบเห็น พระกริ่ง มีออกญาจักรี คนเดียวบอกว่าสัก ๒๐ ปีมาแล้ว เคยเห็นองค์หนึ่ง เป็นของชาวบ้านนอก แต่ก็หาได้เอาใจใส่ไม่ ครั้นมาถึงนครวัดจึงมาได้รับความจริงจาก เมอร์ซิเออร์ มาร์ชาล ผู้จัดการโบราณสถาน ว่าสัก ๒-๓ เดือนมาแล้วเขาขุดซ่อมเทวสถานซึ่งแปลงเป็นวัดพระพุทธศาสนาบนยอดเขา มาเก็บพบพระพุทะรูปองค์เล็กๆอยู่ในหม้อใบหนึ่งหลายองค์ เอามาให้เราดูเป็นพระกริ่งปทุมสุริยวงศ์ทั้งนั้น มีทั้งอย่างเนื้อดำและเนื้อเหลือง ตรงกับที่สมเด็จพระอุปัชฌาย์ ทรงอธิบายจึงเป็นอันได้ความแน่นอนว่าพระกริ่งที่ได้ไปยังต่างประเทศเราแต่ก่อนนั้นเป็นของหาได้ในกรุงกัมพูชา แต่จะนำมาจำหน่ายจากเมืองจีนหรือพวกขอมจะเอาแบบพระจีนมาหล่อขึ้นในประเทศขอมหรือไม่ทราบ”



ลักษณะครอบน้ำพระพุทธมนต์ จะอัญเชิญพระกริ่งพร้อมยันต์คาถา ปูไว้เบื้องล่างในครอบน้ำมนต์ แล้วจึงเติมน้ำให้เต็ม เพื่อทำการสวดทำน้ำมนต์ เช่น ครอบน้ำมนต์ปทุมโลหิต แห่งวัดสุทัศน์อันโด่งดัง




พระกริ่งในประเทศไทย พระกริ่งในประเทศไทย นั้นต้องยอมรับว่า เจ้าตำรับการสร้างพระกริ่งในปัจจุบันนี้ ต้องยกให้วัดสุทัศน์เทพวราราม เนื่องจากมีชื่อเสียงโด่งดังและมีประวัติการสร้างพระกริ่งมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็นต้นมา แต่ถ้าจะยกย่องให้พระกริ่งองค์แรก ที่หล่อขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้แก่ วัดบวรนิเวศ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงสร้างขึ้นมาและเรียกกันโดยสามัญว่า “พระกริ่งปวเรศ” สำหรับตำราการสร้างพระกริ่งในประเทศไทยพบดังนี้ว่าตำราสร้างพระกริ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เดิมเป็นตำราของสมเด็จพระนพระชัต วัดป่าแก้ว สำนักอรัญญิกาวาสสมถธุระวิปัสสนาธุระแห่งกรุงศรีอยุธยา และมาอยู่ที่สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ วัดพระเชตุพนฯ จากนั้นพรมงคลทิพย์มุนี (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส ก่อนที่จะมาตกอยู่ที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) เมื่อครั้งยังทรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพโมลี

พระกริ่งปวเรศ เป็นสมัญญานามของพระกริ่งที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงสร้างขึ้น ทราบกันมาว่า ทรงสร้างขึ้นเพื่อประทานแก่เจ้านายที่ทรงคุ้นเคยสนิทสนม และ เจ้านายที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ มีจำนวนน้อยมาก ไม่เกิน ๓๐ องค์ ทรงสร้างด้วยเนื้อนวะโลหะ คว้านฐาน บรรจุเม็ดกริ่ง ปิดทับด้วยแผ่นทองแดง ซึ่งประวัติ พิธีการสร้าง ไม่มีจดบันทึกไว้ เป็นเพียงจากคำบอกเล่าและอ้างอิงกัน ดังเช่น กรมหลวงวชิรญาณวงศ์แห่งวัดบวรฯ เคยมีดำรัสถึงเรื่องพระกริ่งปวเรศนี้ว่า "เท่าที่ฉันได้ยินมานั้น สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ท่านทรงสร้างขึ้นด้วยพระองค์เอง มีจำนวนน้อยมากน่าจะไม่เกิน 30 องค์ ต่อมาได้ประทานให้หลวงชำนาญเลขา(หุ่น) ผู้ใกล้ชิดพระองค์นำไปจัดสร้างขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง แต่หลวงชำนาญเอาไปเทนั้น จะมากน้อยเท่าใดฉันไม่ได้ยินเขาเล่ากัน" การสร้างพระกริ่งปวเรศของสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯนั้น น่าจะเนื่องจากว่าท่านได้รับการถวายพระกริ่งที่เรียกกันว่า "กริ่งปทุมสุริวงศ์" พร้อมตำราการสร้างพระกริ่งและตำรามงคลโลหะ ที่มีมาแต่โบราณสืบค้นได้ถึงสมัยสมเด็จพระพนรัตนวัดป่าแก้ว ทรงเห็นว่าพระกริ่งนั้นดีมีมงคล หากจะสร้างขึ้นตามตำรา แต่ดัดแปลงพุทธลักษณะที่คล้ายเทวรูปในคตินิยมแบบมหายาน ให้มีพุทธลักษณะคตินิยมแบบหินยานก็น่าจะมีเอกลักษณ์ดี อีกทั้งเมื่อมีการขยับพระพุทธชินสีห์คราวสร้างฐานชุกชีนั้น พบว่ามีเนื้อฐานพระพุทธชินสีห์ชำรุดจึงโปรดให้ช่างตัดแต่งให้งามดุจเดิม และเนื้อฐานพระพุทธชินสีห์นั้นเองล่ะกระมังที่เป็นแรงบันดาลใจ เมื่อทรงได้ตำราสร้างพระกริ่งและตำราโลหะมงคลมา จึงได้นำโลหะที่เหลือจากการแต่งฐานพระพุทธชินสีห์มาใช้ เพราะนานไปเศษโลหะนั้นจะไม่มีผู้รู้ค่าว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์จะถูกทิ้งเสียเปล่า พระองศ์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้ทรงดำรัสถึงเรื่องพระต้นแบบพระกริ่งปวเรศเป็นความว่า "ฉันเห็นหม้อน้ำมนต์ของวัดบวรนิเวศวิหาร ฉันได้เอาแว่นขยายส่องดู จึงแน่ใจว่าเป็นพระกริ่งใหญ่(พระกริ่งจีน) หรือที่เรียกกันว่าปทุมสุริวงศ์ อันน่าจะได้รับถวายมาจากราชวงศ์นโรดมกัมพูชา? สำหรับพระกริ่งใหญ่หรือพระกริ่งปทุมสุริวงศ์นี้ เป็นพระกริ่งของจีนโบราณสมัยหมิง ได้แพร่หลายเข้ามานานแล้ว แต่ที่พบจะมาพร้อมพระกริ่งบาเก็ง ซึ่งศิลปะสกุลช่างจีนเช่นเดียวกันแต่พบที่ปราสาทบาแคงที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาพนมบาแคง ท่านอาจารย์ตรียัมปวาย ได้กล่าวถึงเรื่องพระกริ่งปวเรศไว้ดังนี้ "พระกริ่งปวเรศที่คนโบราณเขานิยมกันนั้น มีอยู่เนื้อเดียว คือเนื้อนวโลหะผิวกลับดำ เมื่อขัดเนื้อในจะเป็นสีจำปาเทศ และเมื่อทิ้งไว้ถูกกับอากาศก็จะกลับดำอีกครั้งหนึ่งในเวลาไม่นาน การอุดก้นนั้นพบสองลักษณะ คืออุดด้วยทองแดง และอุดด้วยฝาบาตร มีเครื่องหมายลับไว้กันปลอมแปลงด้วยแต่เป็นกริ่งที่หายาก และมีผู้เจนจัดชนิดชี้เป็นชี้ตายได้น้อยแทบไม่มีเลย นอกจากจะมีองค์ที่เป็นองค์ครูแล้วนำเอาองค์อื่นมาเทียบเคียงเท่านั้น" ภาพพระกริ่งปวเรศ อันโด่งดัง เป็นพระกริ่งแรกสุดของกรุงรัตนโกสินทร์












ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page